บาลีวันละคำ

กฎ (บาลีวันละคำ 857)

กฎ

อ่านว่า กด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กฎ” ไว้ว่า –

(1) (คำโบราณ) (คำกริยา) จดไว้เป็นหลักฐาน เช่น ให้นายยกกระบัตรกฎปากหลากคําไว้.

(2) ตรา เช่น ตรัสแก่ขุนศรีภูริปรีชาให้กฎเป็นตําราไว้., “พระมหาธรรมราชาก็ตรัสให้กฎลงมาให้เอาพระยารามเป็นพระยาพิชัย”. (เทียบ เขมร. กต่ ว่า จด).

(3) (คำนาม) คําบังคับ เช่น จึ่งสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินก็ตรัสให้ทําตามกฎให้ลงมานั้นทุกประการ.

(4) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อกําหนดหรือข้อบัญญัติที่บังคับให้ต้องมีการปฏิบัติตาม เช่น กฎกระทรวง กฎหมาย

(5) (คำที่ใช้ในวิทยาศาสตร์) ข้อกําหนดในเรื่องธรรมชาติตามที่ค้นคว้าได้. (อ. law).

ในความหมายกลางๆ “กฎ” ใช้ตามคำอังกฤษว่า law

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล law เป็นบาลีว่า –

(1) nīti นีติ (นี-ติ) ตรงกับที่เราใช้ว่า นิติ = กฎหมาย, แบบแผน, ระเบียบ

(2) paññatti ปญฺญตฺติ (ปัน-ยัด-ติ) ตรงกับที่เราใช้ว่า “บัญญัติ” เช่น บทบัญญัติ, พระราชบัญญัติ แปลตามศัพท์ว่า “ปูลาดไว้” หรือ “แต่งตั้งขึ้น”

(3) vavatthā ววตฺถา (วะ-วัด-ถา) = ข้อกำหนด

(4) sikkhā สิกฺขา (สิก-ขา) ภาษาไทยนิยมใช้ว่า “ศึกษา” = เรื่องที่พึงปฏิบัติ

(5) āṇā อาณา (อา-นา) = อำนาจ, ข้อบังคับ

(6) niyoga นิโยค (นิ-โย-คะ) = บังคับบัญชา, คำสั่ง, ความจำเป็น (necessity)

(7) dhamma ธมฺม (ทำ-มะ) = ธรรม ในที่นี้หมายถึง หลักการ, กฎเกณฑ์, กฎธรรมชาติ

กฏ” รูปคำตรงกับ “กฏ” (กะ-ตะ) ในบาลี แปลงมาจาก “กต” แปลตามรูปศัพท์ว่า “ทำไว้แล้ว

ตีความแบบ “ลากเข้าความ” ในภาษาไทยว่า ผู้ทำ (คือผู้ที่ต้องปฏิบัติตาม) ไม่ต้องคิดทำสิ่งนั้นขึ้นมาเอง เพราะมีผู้ “ทำไว้แล้ว” คือมีผู้อื่นกำหนดมาให้ทำ

โดยนัยนี้จึงมีผู้ให้ความเห็นว่า คำว่า “กด” ( = บังคับลง, ข่ม, ใช้กําลังดันให้ลง) ในภาษาไทยมาจาก “กต” ของบาลี

กฎของ “กฏ” ในบาลี :

(1) ถ้าใช้คู่กับ “กลิ” (กะ-ลิ คือที่เราใช้ว่า “กลี” เช่น กลียุค) จะมีความหมายตรงกันข้าม กล่าวคือ :

กฏ = ลูกเต๋านำโชค, ผู้โชคดี, ผู้เคราะห์ดี (the lucky die, one who is lucky, fortunate)

กลิ = ลูกเต๋าอับโชค, ผู้แพ้ (the unlucky die, one who is defeated)

(2) ถ้ามี “สุ” นำหน้า เป็น “สุกฏ” (สุ-กะ-ตะ) หมายถึง ทำดี, ทำถูกต้อง (well done, good, goodness) ถ้ามี “ทุ” นำหน้า เป็น “ทุกฺกฏ” (ทุก-กะ-ตะ) หมายถึง ทำผิด, ทำเสียหาย, เรื่องที่ควรถูกตำหนิ (badly done, evil, badness)

: กฎทุกกฎมักมีข้อยกเว้นให้แก่ผู้ทำ

: แต่กฎแห่งกรรมไม่เคยยกเว้นให้แก่ใคร

#บาลีวันละคำ (857)

22-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *