ญาติธรรม (บาลีวันละคำ 858)
ญาติธรรม
อ่านว่า ยาด-ติ-ทำ หรือ ยา-ติ-ทำ ก็ได้
แต่อ่านว่า ยาด-ทำ ถือว่าอ่านผิด
หลักคือ “ญาติ” บาลีอ่านว่า ยา-ติ ภาษาไทยอ่านว่า ยาด
ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ยา-ติ- หรือ ยาด-ติ- คือต้องออกเสียง -ติ- ด้วย
บาลีเป็น “ญาติธมฺม” อ่านว่า ยา-ติ-ทำ-มะ
ประกอบด้วย ญาติ + ธมฺม
“ญาติ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขารู้กันว่าเป็นใคร”
ความหมายในภาษาไทยคือ “คนในวงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสายฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่”
ท่านว่า “ญาติ” มี 2 ประเภท คือ –
1 คนที่รู้จักกัน ซึ่งอาจใช้คำเรียกว่า “ญาติมิตร”
2 คนที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด คือ “ญาติสาโลหิต”
“ธมฺม” มาจากรากศัพท์ว่า ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม แปลว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
“ธรรม” คำง่ายๆ เหมือนหญ้าปากคอก แต่ใช้ทับศัพท์กันจนแทบจะไม่ได้นึกถึงความหมายที่แท้จริง
“ธมฺม – ธรรม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –
สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเฉพาะ คือหมายถึง หน้าที่
ญาติ + ธมฺม = ญาติธมฺม > ญาติธรรม
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ธรรม” ที่คําประกอบท้ายคําที่เป็นนามธรรม เมื่อประกอบแล้วมีความหมายไม่ต่างไปจากคําศัพท์เดิม เช่น วัฒนธรรม อารยธรรม.
คำว่า “ญาติ” น่าจะไม่ใช่ “นามธรรม” หรือถ้าใช่ ก็ต้องอยู่ในข้อยกเว้น เพราะเมื่อเอาคำว่า “ธรรม” มาประกอบท้ายมีความหมายเพิ่มขึ้นจากคำเดิม คือ “ญาติธรรม” หมายถึง หน้าที่ของญาติพี่น้อง (the duties of relatives)
หน้าที่ของคนที่เป็นญาติกันก็คือ “เมื่ออยู่ เกื้อกูลกัน, เมื่อจาก ระลึกถึงกัน”
: บางคน เป็นญาติกันแค่ตาย
: บางคน ตายแล้วก็ยังเป็นญาติกัน
: บางคนตัดญาติกันตั้งแต่ยังไม่ตาย
เทศกาลสารท : เทศกาลปฏิบัติญาติธรรม
#บาลีวันละคำ (858)
23-9-57