บาลีวันละคำ

อุษณีย์ – อุษณีษ์ (บาลีวันละคำ 859)

อุษณีย์ – อุษณีษ์

อ่านว่า อุด-สะ-นี

ดูดีๆ ไม่เหมือนกัน

อุษณีย์ (ย ยักษ์การันต์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า อุษณีย์ ไว้

แต่มีคำว่า อุษณ– อ่านว่า อุด-สะ-นะ- บอกไว้ว่า –

อุษณ– : (คำนาม) ความร้อน; ฤดูร้อน; ของร้อน. (คำวิเศษณ์) ร้อน, อบอุ่น. (ส., ป. อุณฺห).”

ขีด (-) หลัง – หมายความว่า ไม่มีคำที่ใช้ว่า “อุษณ” ตรงๆ แต่จะใช้ควบกับคำอื่น (มีคำอื่นมาต่อท้าย)

พจน.54 เก็บคำ “อุษณ-” ที่มีคำอื่นต่อท้ายไว้หลายคำ คือ –

(1) อุษณกร (อุด-สะ-นะ-กอน) : (คำนาม) “ผู้กระทําความร้อน” หมายถึง พระอาทิตย์.

(2) อุษณกาล (อุด-สะ-นะ-กาน) : (คำนาม) ฤดูร้อน.

(3) อุษณรัศมี (อุด-สะ-นะ-รัด-สะ-หฺมี) : (คำวิเศษณ์) มีรัศมีร้อน หมายถึง พระอาทิตย์, คู่กับ สีตลรัศมี มีรัศมีเย็น หมายถึง พระจันทร์.

(4) อุษณรุจี (อุด-สะ-นะ-รุ-จี) : (คำวิเศษณ์) มีแสงอันร้อน หมายถึง พระอาทิตย์.

(5) อุษณาการ (อุด-สะ-นา-กาน) : (คำนาม) อาการเร่าร้อน. (ส. อุษฺณาการ; ป. อุณฺหาการ).

อุษณีย์” ถ้าสะกดอย่างนี้ คือ ย ยักษ์การันต์ ก็ต้องอธิบายตามกฎบาลีไวยากรณ์ว่า อุษณ (ความร้อน) + อีย ปัจจัย (อีย ปัจจัย มีความหมายว่า-เป็นที่ตั้งแห่ง-, ควรแก่-, เกื้อกูลแก่-)

: อุษณ + อีย = อุษณีย (อุด-สะ-นี-ยะ) > อุษณีย์ (อุด-สะ-นี) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งความร้อน” “ควรแก่ความร้อน” “เกื้อกูลแก่ความร้อน” = ถ้าต้องการความร้อนละก็-นี่แหละใช่เลย

แปลในทางบวกก็ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งความอบอุ่น” = อยู่ที่ไหนอุ่นใจที่นั่น

อุษณีย์ < อุษณีย < อุษณ บาลีเป็น “อุณฺห” (อุน-หะ) ศัพท์เดียวกับที่ใช้ในคำว่า “อุณหภูมิ” = ระดับความสูงต่ำของความร้อน

อุษณีษ์ (ษ ฤๅษีการันต์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุษณีษ์ : (คำนาม) มงกุฎ; กรอบหน้า. (ส.; ป. อุณฺหีส).”

อุษณีษ์ สันสกฤตเป็น “อุษฺณีษ” บาลีเป็น “อุณฺหีส” (อุน-นะ-ฮี-สะ ออกเสียง -นะ- แผ่วๆ คล้าย อุน-หฺนีด-สะ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุณฺหีส” เป็นภาษาอังกฤษว่า a turban

 (ผ้าโพกศีรษะ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “อุษฺณีษ” ว่า ศิโรเวฐน์, ผ้าโพก, มงกุฎ, รัดเกล้า a turban, a diadem, a crown.

พจน.54 มีคำว่า “อุณหิส” (อุน-นะ-หิด) บอกไว้ว่า –

อุณหิส : (คำนาม) กรอบหน้า, มงกุฎ. (ป. อุณฺหีส; ส. อุษฺณีษ).”

อุณฺหีสอุณหิส เป็นคำเดียวกับที่ปรากฏในพระนามเจ้าฟ้า “มหาวชิรุณหิศ” สยามมกุฏราชกุมารพระองค์แรก (มหา+วชิร+อุณหิศ)

วชิรุณหิศ” มีความหมายว่า “มงกุฎเพชร

สรุปว่า อุษณีษ์อุณหิส มีความหมายเหมือนกัน

และโปรดสังเกตบทนิยามใน พจน.54 :

อุษณีษ์ : มงกุฎ; กรอบหน้า.

อุณหิส : กรอบหน้า, มงกุฎ.

สันนิษฐาน : อุษณีย์” (ย ยักษ์การันต์) มีได้อย่างไร

(1) เข้าใจว่า คำจริงๆ ที่ประสงค์คือ “อุษณีษ์” (ษ ฤๅษีการันต์) เพราะมีความหมายดี เหมาะที่จะใช้ตั้งชื่อบุคคล

(2) เราคุ้นกับคำที่ออกเสียง -นี- และมี ย การันต์ มากกว่า เช่น เสาวนีย์ พจนีย์ กรณีย์  ประกอบกับโครงสร้างรูปทรง ย กับ ษ คล้ายคลึงกลมกลืนกัน เมื่อเห็นคำ “อุษณีษ์” จึงเขียนด้วยความเข้าใจผิดเป็น “อุษณีย์” ได้อย่างสนิท

(3) ยิ่งเมื่อใช้เป็นชื่อบุคคลย่อมได้รับสิทธิพิเศษสะกดการันต์ได้ตามใจชอบ คำว่า “อุษณีย์” ซึ่งเจตนาเดิมตั้งใจหมายถึง “อุษณีษ์” จึงอยู่ในฐานะเป็นคำที่ถูกต้องไปโดยปริยาย

(4) จึงไม่ควรแปลกใจถ้าเจ้าของชื่อหรือตัวผู้ตั้งชื่อจะยืนยันว่า “อุษณีย์” (ย ยักษ์การันต์) แปลว่า มงกุฎ หรือเครื่องประดับศีรษะ

(5) อุษณ + อีย = อุษณีย > อุษณีย์ เทียบบาลีเป็น อุณฺหีย (อุณฺห+อีย) แม้ตามกฎไวยากรณ์จะมีได้ แต่ก็ยังไม่พบคำที่ใช้ในคัมภีร์ และความหมายตามศัพท์ก็ดูจะไม่น่ารื่นรมย์เท่าไรนัก ทั้งไม่เกี่ยวกับมงกุฎ หรือเครื่องประดับศีรษะแต่ประการใด

: คนฉลาดทำผิดแล้วแก้

: คนเขลาแท้ทำผิดแล้วกลบ

————-

(Tawee Thichai ถามว่า อุษณีย์ มาอย่างไร)

#บาลีวันละคำ (859)

24-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *