บาลีวันละคำ

ปรีดีราชวโรทัย (บาลีวันละคำ 2447)

ปรีดีราชวโรทัย

…………..

ในพระบรมมหาราชวังมีพระที่นั่งหมู่หนึ่ง ตั้งชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งนับได้ถึง 10 ชื่อ ดังนี้ –

(1) มูลสถานบรมอาสน์

(2) สมมติเทวราชอุปบัติ

(3) ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์

(4) นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร

(5) บรมราชสถิตยมโหฬาร

(6) อมรพิมานมณี

(7) สุทธาศรีอภิรมย์

(8) บรรณาคมสรนี

(9) ปรีดีราชวโรทัย

(10) เทพดนัยนันทยากร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำชื่อพระที่นั่งแต่ละองค์มาแยกศัพท์และแปลสู่กันฟังตามสติปัญญา เพื่อเป็นอลังการทางภาษาและเป็นเครื่องประเทืองปัญญาตามสมควร

อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อพระที่นั่งเหล่านี้เป็นวิสามานยาม (proper name) การแยกศัพท์และแปลจึงกระทำไปเท่าที่ตาเห็น ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้ตั้งชื่อก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น มิได้แสดงรายละเอียดอื่นๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ประกอบไว้ด้วย

ดังนั้น หากญาติมิตรท่านใดมีข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ก็ดี มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ละองค์ก็ดี หากจะกรุณานำมาร่วมเสนอไว้เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ปรีดีราชวโรทัย” อ่านว่า ปฺรี-ดี-ราด-ชะ-วะ-โร-ไท แยกศัพท์เป็น ปรีดี + ราช + วโรทัย หรือ ปรีดี + ราชวร + ทัย (ดูการประสมคำข้างหน้า)

(๑) “ปรีดี

บาลีเป็น “ปีติ” (ปี– สระ อี) รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย

: ปี + ติ = ปีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)

ปีติ” เป็นคุณภาพจิต ท่านแบ่งลักษณะไว้เป็น 5 อย่าง

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ประมวลความไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังนี้ –

[226] ปีติ 5 (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำ — joy; interest; zest; rapture)

       1. ขุททกาปีติ (ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล — minor rapture; lesser thrill)

       2. ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ — momentary or instantaneous joy)

       3. โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือปีติเป็นพักๆ ให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง — showering joy; flood of joy)

       4. อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา ลอยขึ้นไปในอากาศ — uplifting joy)

       5. ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้ — suffusing joy; pervading rapture)

โปรดเปรียบเทียบกับความเข้าใจของฝรั่งที่ศึกษาบาลีแล้วขยายความไว้ดังนี้ –

1 khuddikā pīti : slight sense of interest (ความรู้สึกตื่นเต้นนิดๆ)

2 khaṇikā pīti : momentary joy (ความดีใจชั่วครู่)

3 okkantikā pīti : oscillating interest, flood of joy (ความตื่นเต้นที่แกว่งไปมา หรือขึ้นๆ ลงๆ หรือความดีใจที่ประดังขึ้นมา)

4 ubbegā pīti : ecstasy, thrilling emotion (ความซาบซ่านหรือความปลาบปลื้มอย่างสุดขีด)

5 pharaṇā pīti : interest amounting to rapture, suffusing joy (ความตื่นเต้นถึงขีดลืมตัวหรือหมดสติ)

บาลี “ปีติ” สันสกฤตเป็น “ปฺรีติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรีติ : (คำนาม) ‘ปรีติ’ ความยินดี, ความปราโมท, ความสุข; ความรัก, ความเสน่หา, ความนับถือ, วธูของกามเทพ; นักษัตรโยคที่สองในจำนวนยี่สิบเจ็ด; joy, pleasure, happiness; love, affection, regard; the wife of Kāmadeva or Cupid; the second of the twenty-seven astronomical yogas.”

ในภาษาไทยมีใช้ทั้งรูปบาลี “ปีติ” และรูปที่อิงสันสกฤตเป็น “ปรีดิ, ปรีดิ์, ปรีดี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ปรีดิ, ปรีดิ์, ปรีดี : (คำนาม) ความอิ่มใจ, ความปลื้มใจ, ความยินดี. (ส. ปฺรีติ; ป. ปีติ).

(2) ปีติ : (คำนาม) ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ. (ป.; ส. ปฺรีติ).

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + (ปัจจัย) ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๓) “วโรทัย

คำนี้ถ้าแยกศัพท์ตามหลักไวยากรณ์เท่าที่ตาเห็นต้องแยกเป็น วร (ประเสริฐ) + อุทัย (การขึ้นไป [ของดวงอาทิตย์], การเกิดขึ้น)

เมื่อสนธิกัน อุ– ที่เป็นพยางค์แรกของคำหลังนิยมแผลงเป็น โอ

วร + อุทัย = วโรทัย แปลตามศัพท์ว่า “การขึ้นไปอย่างประเสริฐ” หรือ “การเกิดขึ้นอย่างประเสริฐ

แต่เมื่อได้ทราบว่า พระที่นั่งปรีดีราชวโรทัยเป็นห้องพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ดังนี้ จึงต้องพิจารณาใหม่ว่า “วโรทัย” น่าจะไม่ใช่ วร + อุทัย อย่างที่ตาเห็น

ทัย” ในที่นี้ควรจะหมายถึง “ใจ” นั่นคือตัดมาจาก “หทัย” หรือ “หฤทัย” เพราะฉะนั้นคำนี้น่าจะแยกเป็น วร + ทย เพื่อความสละสลวยในการออกเสียงจึงแผลง วร เป็น วโร (ไม่ใช่การแผลงตามกฎไวยากรณ์) : วร + ทย = วโรทัย

มีคำเทียบที่ใกล้กับคำว่า “วโรทัย” คือคำว่า “หวังวรหฤทัย” ในเพลงสรรเสริญพระบารมี “วรหฤทัย” ก็คือ วร + หฤทัย = วรหฤทัย ทำนองเดียวกับ วร + ทย = วโรทัย

การประสมคำ :

(๑) ราช + วโรทัย = ราชวโรทัย แปลว่า “หัวใจอันประเสริฐของพระราชา

(๒) อีกนัยหนึ่ง แยกศัพท์เป็น –

(ก) ราช + วร = ราชวร (บาลีอ่านว่า รา-ชะ-วะ-ระ) แปลว่า “พระราชาผู้ประเสริฐ

(ข) ราชวร + ทัย = ราชวรทัย > ราชวโรทัย แปลว่า “หัวใจของพระราชาผู้ประเสริฐ

(๓) ปรีดี + ราชวโรทัย = ปรีดีราชวโรทัย แปลว่า (1) “พระที่นั่งที่ทำความยินดีให้แก่หัวใจอันประเสริฐของพระราชา” (2)“พระที่นั่งที่ทำความยินดีให้แก่หัวใจของพระราชาผู้ประเสริฐ

ทั้งนี้เป็นการแปลโดยอนุวัตรตามข้อมูลที่บอกว่า พระที่นั่งปรีดีราชวโรทัยเป็นห้องพักผ่อนพระราชอิริยาบถ

…………..

ดูก่อนภราดา!

ธมฺมปีติ สุขํ เสติ

: ถ้าหมั่นอบรมธรรมปรีดีให้มีประจำหัวใจ

: แผ่นดินไทยย่อมร่มเย็นเป็นสุขโดยธรรม

#บาลีวันละคำ (2,447)

23-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *