บาลีวันละคำ

รับประทาน (บาลีวันละคำ 861)

รับประทาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “รับประทาน” (คำกริยา) ไว้ว่า –

(1) กิน เช่น รับประทานอาหาร

(2) (ราชาศัพท์) รับของจากเจ้านาย เช่น รับประทานสิ่งของจากสมเด็จพระสังฆราช รับประทานประกาศนียบัตรจากพระองค์เจ้า.

รับ” เป็นคำไทย แต่ “ประทาน” เป็นคำอะไร ?

พจน.54 มีคำว่า “ประทาน” บอกไว้ว่า –

ประทาน : (ราชาศัพท์) (คำกริยา) ให้ (ใช้แก่เจ้านาย). (ส.).”

(ส.) ในวงเล็บหมายความว่า พจน.54 บอกว่า “ประทาน” มาจากคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺรทาน” บอกไว้ว่า –

ประทาน : (คำนาม) ‘ประทาน’, ทาน, ของให้, การให้; ปฏัก; a gift or donation, giving; a goad.”

บาลีมีคำกริยา “ปทาติ” (ปะ-ทา-ติ) แปลว่า

(1) ให้, มอบให้ (to give, bestow)

(2) ได้มา, ถือเอา (to acquire, take, get)

จากคำกริยา “ปทาติ” เป็นคำนามว่า “ปทาน” (ปะ-ทา-นะ) รากศัพท์คือ (ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: + ทา = ปทา + ยุ > อน = ปทาน เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประทาน” แปลว่า การให้, ของที่ให้, การสละ, การมอบให้ (giving, a gift, donation, bestowing)

สรุปว่า –

1 มีการให้ หรือมีของที่ให้ เรียกว่า “ประทาน

2 ไปรับของที่ให้นั้นมา เรียกว่า “รับประทาน

สันนิษฐาน : (คือเดา และสามารถช่วยกันเดาเป็นอย่างอื่นได้อีก)

1 ทำไม “รับประทาน” จึงหมายถึง “กิน

น่าจะเป็นเพราะของที่ “รับประทาน” มาส่วนใหญ่เป็นของกิน และเมื่อรับมาแล้วก็กิน ความหมายของ “รับประทาน” จึงเคลื่อนที่ไปอยู่ที่ “กิน” (แล้วยังนิยมพูดลัดตัดเหลือเพียง –ทาน = กิน จึงเท่ากับเพี้ยนซ้ำซ้อน คือ “ทาน” = ให้ กลายเป็น ทาน = กิน

2 ทำไมสำนวนพระเทศน์จึงนิยมใช้ว่า “รับประทานแสดงพระธรรมเทศนา” (ถ้าแสดงให้พระเจ้าแผ่นดินฟัง ใช้ว่า “รับพระราชทาน….”)

น่าจะเป็นเพราะก่อนเทศน์ต้องอาราธนาธรรม เท่ากับญาติโยม “ถวายโอกาสให้พระแสดงธรรม” พระก็ “รับประทาน” = รับการถวายโอกาสนั้นมา จึงขึ้นต้นสำนวนเทศน์ว่า “บัดนี้ จะได้รับประทานแสดงพระธรรมเทศนา…”

รู้จักให้ รู้จักกิน :

แม้ทำชั่วควรติฉิน ก็ยังมีคนชมว่าดี

ถ้ายิ่งใช้ในการทำดี ก็ยิ่งเป็นยอดดี

————–

(รับฝากมาต่อยอด จากพระคุณท่านปริญช์ ชุติญาณวงษ์)

#บาลีวันละคำ (861)

26-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *