นับหนึ่งถึงสิบ (บาลีวันละคำ 1,888)
นับหนึ่งถึงสิบ
ภาษาไทยนับหนึ่งถึงสิบว่า –
หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ
ภาษาบาลีนับหนึ่งถึงสิบว่าอย่างไร?
นับหนึ่งถึงสิบเทียบไทย – บาลี :
หนึ่ง = เอก (เอ-กะ)
สอง = ทฺวิ (ทุ-อิ๊)
สาม = ติ (ติ)
สี่ = จตุ (จะ-ตุ)
ห้า = ปญฺจ (ปัน-จะ)
หก = ฉ (ฉะ)
เจ็ด = สตฺต (สัด-ตะ)
แปด = อฏฺฐ (อัด-ถะ)
เก้า = นว (นะ-วะ)
สิบ = ทส (ทะ-สะ)
…………..
หลักความรู้ :
(๑) คำสำหรับนับในภาษาบาลี มีชื่อเรียกว่า “สงฺขฺยา”
“สงฺขฺยา” อ่านแบบบาลีว่า สัง-ขฺยา (-ยา เสียงสามัญ ออกเสียงว่า สัง-เคีย จะได้เสียงที่ใกล้เคียงที่สุด) อ่านแบบบาลีไทยว่า สัง-ขะ-หฺยา (-ยา ห- นำ เสียงจัตวา)
“สงฺขฺยา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังขยา” (สัง-ขะ-หฺยา) ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ การนับ หรือการระบุจำนวน
(๒) คำนับหนึ่งถึงสิบที่แสดงไว้นั้นเป็นศัพท์เดิม คือยังไม่ได้แจกรูปด้วยวิภัตติ เมื่อนำไปใช้ต้องแจกรูปตามกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ เช่น เอก = หนึ่ง แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เอกพจน์
– ผู้ชายหนึ่งคน = เอโก ปุริโส (ปุงลิงค์) เอก เปลี่ยนรูปเป็น เอโก
– ผู้หญิงหนึ่งคน = เอกา อิตฺถี (อิตถีลิงค์) เอก เปลี่ยนรูปเป็น เอกา
– บ้านหนึ่งหลัง = เอกํ เคหํ (นปุงสกลิงค์) เอก เปลี่ยนรูปเป็น เอกํ
(๓) ในวงเล็บข้างต้นโน้นเป็นคำออกเสียงในภาษาบาลี มีบางคำที่ควรทำความเข้าใจ คือ –
: ทฺวิ = สอง โดยทั่วไปออกเสียงกันว่า ทะ-วิ ในภาษาบาลีจะเห็นว่า ทฺ มีจุดข้างใต้ หมายถึง ทฺ ออกเสียงควบกับ วิ ไม่ใช่ ทะ- เต็มเสียง
ถ้าเขียนคำอ่านตามแบบพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ต้องเขียนว่า ทฺวิ อ่านว่า ทฺวิ รูปคำอ่านเหมือนกับรูปคำจริง ก็จะไม่รู้อยู่นั่นเองว่าออกเสียงอย่างไรถูก
ผู้เขียนบาลีวันละคำลองออกเสียงดูแล้ว เห็นว่า ทุ-อิ๊ เป็นเสียงที่ตรงกับ ทฺวิ มากที่สุด ออกเสียงตามธรรมดา ไม่หยุดตรงคำว่า ทุ- คือ ทุ- แล้วผ่านไปที่ -อิ๊ ทันที จะได้เสียงของ ทฺวิ ชัดๆ (ทดลองออกเสียง ทุ-อิ๊ หลายๆ ครั้ง จะรู้สึกได้ว่า ทุ-อิ๊ คือ ทฺวิ แต่ไม่ใช่ ทะ-วิ)
: ฉ = หก ภาษาบาลีออกเสียง ฉะ แต่ในภาษาไทยมีหลายคำที่โบราณท่านออกเสียงเป็น ฉอ หรือบางทีก็เป็น ฉ้อ เช่น
– “ฉกษัตริย์” ชื่อกัณฑ์ที่ 12 ของมหาชาติ อ่านว่า ฉอ-กะ-สัด หรือ ฉ้อ-กะ-สัด ไม่ใช่ ฉะ-กะ-สัด
– “ฉทานศาลา” แปลว่า ศาลาเป็นที่ทําทาน 6 แห่ง อ่านว่า ฉ้อ-ทาน-นะ-สา-ลา ไม่ใช่ ฉะ-ทาน–
– “ฉศก” คำเรียกปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข 6 เช่น ปีชวด ฉศก จุลศักราช 1346 อ่านว่า ฉอ-สก ไม่ใช่ ฉะ-สก
ชะรอยว่าเสียง ฉะ- ในภาษาไทยชวนให้เกิดความรู้สึกบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ โบราณท่านจึงเลี่ยงไปออกเสียงเป็น ฉอ หรือ ฉ้อ เช่นเดียวกับบางคำในบาลีที่สะกดด้วย ห หีบ สระ อี เช่น ตุณฺหี (นิ่ง) มหีตเล (บนแผ่นดิน) ท่านก็เลี่ยงไปออกเสียงเป็น -ฮี- ซึ่งทำให้คนที่ไม่รู้เหตุผลพลอยเขียนตามเสียงเป็น ตุณฺฮี มฮีตเล (มะฮีตะเล) กลายเป็นคำวิปริตปรากฏในหนังสือสวดมนต์สมัยใหม่ทั่วไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สวดบาลีได้ตั้งร้อยคำพันคำ
: ถ้ายังปล่อยใจให้กิเลสครอบงำ จะมีประโยชน์ดังฤๅ
10-8-60