บาลีวันละคำ

เคราะห์ (บาลีวันละคำ 865)

เคราะห์

อ่านว่า เคฺราะ

(คฺร ควบกล้ำ ออกเสียง ค ครึ่งเสียง : ค-เราะ)

เคราะห์” บาลีเป็น “คห” (คะ-หะ) สันสกฤตเป็น “คฺรห

คห” รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + ปัจจัย

: คหฺ + = คห แปลตามศัพท์ว่า “ผู้จับ” แปลทับศัพท์ว่า “เคราะห์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและไขความคำว่า “คห” ไว้ว่า –

คห : “seizer”, seizing, grasping, a demon, any being or object having a hold upon man. – “ผู้จับ”, การจับ, การคว้า, เป็นคำใช้แทนสิ่งของหรือวัตถุที่คนต้องตกอยู่ใต้บังคับ.

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “คฺรห” ไว้ว่า –

(คำไขความของอภิธานฉบับนี้มักใช้คำแปลกๆ ควรจับความจากคำอังกฤษที่ท่านให้ไว้)

คฺรห : (คำนาม) การถือเอา, การจับ, การรับ; สูรยคราสหรือจันทรคราส; ดาวพระเคราะห์; พระเคราะห์; นามของราหุหรืออุทัสบาต; อุตสาหะในการรบ; เพียร; การย์, เหตุ, อรรถ, ความคิด, ความตั้งใจ; อุปการะ; อนุกูล; taking, seizure, acceptance; an eclipse or seizure of the sun or moon b Rāhu; a planet; the place of a planet in the fixed zodiac; a movable point in the heavens; a name of Rāhu, or ascending node; effort in battle; perseverance; purpose, design, intention, favour, patronage.”

เคราะห์” ในที่นี้เป็นคำที่ใช้ในโหราศาสตร์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) เรียกดาวเฉพาะ ๙ ดวง เรียงตามลำดับมหาทักษา คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ เกตุ ซึ่งถือกันว่ามีเทวดาประจําแต่ละดวง ว่า ดาวพระเคราะห์, เรียกดาวพระเคราะห์ทั้ง ๙ ดวงอย่างรวม ๆ ว่า ดาวนพเคราะห์ ถือว่าเป็นดาวที่ยึดโชคของคน.

(2) สิ่งที่นําผลมาให้โดยไม่ได้คาดหมาย เช่น เคราะห์ดี เคราะห์ร้าย, มักนิยมใช้ในทางไม่ดี เช่น มีเคราะห์ ฟาดเคราะห์. (ป. คห; ส. คฺรห ว่า ยึด).

คนส่วนมากนึกถึงคำว่า “เคราะห์” ตามความหมายในข้อ (2) และมักเชื่อว่าเคราะห์ดี เคราะห์ร้ายเกิดจากอำนาจลึกลับเป็นผู้กระทำ จึงมีผู้คิดวิธีแก้เคราะห์ต่างๆ ส่วนใหญ่แก้ที่เหตุภายนอก

คัมภีร์พระธรรมบท (พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 28) มีพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า :

นตฺถิ  ราคสโม  อคฺคิ

นตฺถิ  โทสสโม  คโห

นตฺถิ  โมหสมํ  ชาลํ

นตฺถิ  ตณฺหาสมา  นที.

ไม่มีไฟไหนจะร้อนเท่ากับราคะ

ไม่มีเคราะห์ไหนจะร้ายเทียมโทสะความโกรธแค้น

ไม่มีข่ายไหนจะมัดแน่นเสมอความหลงผิด

ไม่มีแม่น้ำไหนจะพร่องอยู่เนืองนิตย์เหมือนดั่งความปรารถนา

: ดับโทสะได้ ก็แก้เคราะห์ร้ายได้

#บาลีวันละคำ (865)

30-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *