บาลีวันละคำ

ราคจริต (บาลีวันละคำ 2,775)

ราคจริต

พื้นจิตของบางคน

อ่านว่า รา-คะ-จะ-หฺริด

ประกอบด้วยคำว่า ราค + จริต

(๑) “ราค

บาลีอ่านว่า รา-คะ รากศัพท์มาจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ย้อม, กำหนัด) + ปัจจัย, ลบ , ลบ ญฺ ที่ รญฺชฺ (รญฺช > รช), ทีฆะ อะ ที่ -(ชฺ) เป็น อา (รชฺ > ราช), แปลง ป็น

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช > ราค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การย้อมสี” “ภาวะเป็นเหตุให้กำหนัด

ราค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สี, สีย้อม, การทำให้เป็นสี (colour, hue; colouring, dye)

(2) ความกำหนัด, ตัณหา (excitement, passion)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราค-, ราคะ : (คำนาม) ความกําหนัดยินดีในกามารมณ์, ความใคร่ในกามคุณ. (ป., ส.).”

(๒) “จริต

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ + อิ + )

: จรฺ + อิ + = จริต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาประพฤติแล้ว

จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ (action, behaviour, living)

ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ (going, moving, being like, behaving)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”

ราค + จริต = ราคจริต (รา-คะ-จะ-ริ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติด้วยความกำหนัด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ราคจริต” ว่า one whose habit is passion, of passionate behavior (ผู้มีนิสัยถูกครอบงำด้วยราคะ หรือที่มีการกระทำหนักไปในทางรักๆ ใคร่ๆ)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ราคจริต” บอกไว้ว่า –

ราคจริต : พื้นนิสัยที่หนักในราคะ เช่น รักสวย รักงาม แก้ด้วยเจริญกายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [262] จริต หรือ จริยา 6 บอกไว้ว่า –

ราคจริต : ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม (Rāga-carita: one of lustful temperament) กรรมฐานคู่ปรับสำหรับแก้ คือ อสุภะและกายคตาสติ

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราคจริต : (คำนาม) ความประพฤติที่หนักไปทางความใคร่ในกามคุณ เช่น เขามีราคจริตมากจึงก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศ, ความประพฤติที่มีพื้นนิสัยหนักไปในทางรักสวยรักงาม, เป็นจริต ๑ ในจริต ๖. (ป.).”

…………..

ลักษณะของคนราคจริต :

ลักษณะนิสัย คนราคจริตเป็นคนงก เหลี่ยมจัด ถ้าเป็นสตรีก็มีจริตจะก้านแพรวพราว ชอบความหรูหราโอ่อา แต่งานบุญงานกุศลมักมีศรัทธาแรง

ท่าทางการเดินของคนราคจริต เดินโดยอาการเรียบร้อยน่ารัก วางเท้ายกเท้าสม่ำเสมอ รอยเท้าของคนราคจริตเป็นรอยกระโหย่งกลาง

ท่ายืนของคนราคจริตก็มีอาการเรียบร้อยน่ารักเช่นกัน

คนราคจริตทำอะไรไม่รีบร้อน เช่นเวลานอน จัดที่นอนเรียบร้อยแล้วค่อยเหยียดกายนอน วางมือวางเท้าเรียบร้อย แม้กำลังหลับก็น่ามอง ถ้าถูกปลุกให้ลุกก็จะค่อยๆ ลุก ไม่ผลุนผลัน ตอนนั้นถ้าถามอะไรก็จะพูดตอบเบาๆ เหมือนไม่อยากพูด

เวลาทำงาน เช่นกวาดพื้น คนราคจริตจับไม้กวาดพอดี ไม่แน่นไม่หลวม ไม่รีบเร่ง ไม่ฟาดป่ายเปะปะ พื้นตรงที่กวาดจะสะอาด “เรียบร้อยราวกับปูเสื่อ

งานอื่นๆ คนราคจริตมักทำละเอียดลออเรียบร้อย และทำอย่างระมัดระวัง

อาหารการกิน คนราคจริตชอบของกินที่ประดิดประดอยบรรจงจัดและของกินต้องอร่อยเป็นพิเศษเสมอ ตักเข้าปากละมุนละไม ไม่มูมมาม มีรสนิยมในการกิน ได้ของถูกปากจะมีความสุขในการกินเป็นพิเศษ

คนราคจริตชอบงานศิลปะ สามารถชี้จุดดีจุดเด่นให้เห็นได้เสมอแม้ในงานที่มีข้อบกพร่อง เดินชมนิทรรศการแต่ละจุดมักอ้อยอิ่งอยู่ได้นานๆ ซาบซึ้งง่าย ไม่เบื่อ บางทีเดินออกไปแล้วยังย้อนกลับมาดูอีก

(เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 กัมมฐานคหณนิเทส)

…………..

อภิปรายขยายความ :

ราคจริต” มีความหมายต่างจาก “ราคะ

ราคจริต” เป็นพื้นนิสัยของคน

ราคะ” เป็นอารมณ์ที่เกิดเป็นครั้งคราว

ถ้าพูดว่า “เห็นแล้วเกิดราคะ” หมายถึง เห็นแล้วเกิดความอยากเสพหรืออยากทำกิจในทางกามในขณะนั้น แต่จะพูดว่า “เห็นแล้วเกิดราคจริต” ดังนี้หาได้ไม่

เพราะ “ราคจริต” เป็นพื้นอารมณ์หรือลักษณะนิสัยที่เป็นเช่นนั้นตลอดเวลา เช่นเป็นคนรักสวยรักงาม ก็เป็นเช่นนั้นเป็นนิสัย ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ส่วน “ราคะ” เป็นอาการอยากเสพสมซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น เมื่อสมใจแล้วก็สงบ ไม่ใช่เกิดขึ้นตลอดเวลา

ปุถุชนย่อมเกิดราคะคือความอยากเสพสมกันทุกคน แต่ไม่ได้เป็นคนราคจริตกันทุกคน บางคนเท่านั้นที่เป็นคน “ราคจริต

คนอยากเสพทุกคน เราพูดได้ว่าเขาเกิดราคะ

แต่คนเกิดราคะไม่ใช่คนราคจริตหมดทุกคน

โปรดใช้คำให้ถูก ถ้าเคยพูดผิดเขียนผิด จงแก้ไขเสียให้ถูก แต่ไม่ควรอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หยุดอยากยากเย็น

: หยุดเป็นหายอยาก

#บาลีวันละคำ (2,775)

17-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย