บาลีวันละคำ

สรรเสริญพระบารมี (บาลีวันละคำ 1,601)

สรรเสริญพระบารมี

ประกอบด้วย สรรเสริญ + พระบารมี

(๑) “สรรเสริญ” อ่านว่า สัน-เสิน ก็ได้ สัน-ระ-เสิน ก็ได้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรรเสริญ : (คำกริยา) กล่าวคํายกย่อง เชิดชู หรือ เทิดทูน เช่น สรรเสริญพระพุทธคุณ, กล่าวคําชมด้วยความนิยมพอใจ หรือเยินยอคุณความดี เช่น สรรเสริญคนที่มีความกตัญญูรู้คุณ, สรเสริญ ก็ใช้.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “สรรเสริญ” มาจากภาษาอะไร

บาลีมีคำว่า “ปสํสา” (ปะ-สัง-สา) แปลว่า การสรรเสริญ, การสดุดี, การยกย่อง (praise, applause)

สันสกฤตมีคำว่า ศํส, ศํสุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศํส, ศํสุ : (ธาตุ) สรรเสริญ; เบียดเบียน; ปรารถนา; to praise; to hurt; to wish.”

และมีคำว่า “ปฺรศํส” เป็นคำกริยา แปลว่า สรรเสริญ (to praise)

ปสํสา, ปฺรศํส อาจแผลงเพี้ยนมาเป็น “สรรเสริญ” ก็เป็นได้

(๒) “บารมี

บาลีเป็น “ปารมี” (ปา-ระ-มี) รากศัพท์มาจาก ปรม (ปะ-ระ-มะ) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี), ทีฆะต้นศัพท์ (ปรม > ปารม)

: ปรม + ณี = ปรมณี > ปรมี > ปารมี แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะของผู้มีปรมะ” (ดูความหมายที่คำว่า “ปรม” “บรม-”)

ปารมี” ยังมีคำแปลตามศัพท์อีกหลายความหมาย คือ –

1 ภาวะหรือการกระทำของผู้ประเสริฐ

2 ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องถึงภาวะสูงสุดคือพระนิพพาน

3 ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพาน

4 ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องให้ถึงพระนิพพาน

5 ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุด

6 ข้อปฏิบัติที่ผูกสัตว์อื่นไว้ในตนด้วยการประกอบความดีอย่างพิเศษ

7 ข้อปฏิบัติที่หมดจดอย่างยิ่งจากมลทินคือสังกิเลส

8 ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปสู่พระนิพพานโดยพิเศษ

9 ข้อปฏิบัติที่รู้ถึงโลกหน้าได้ด้วยญาณวิเศษเหมือนรู้โลกนี้

10 ข้อปฏิบัติที่ใส่กลุ่มความดีมีศีลเป็นต้นไว้ในสันดานตนอย่างดียิ่ง

11 ข้อปฏิบัติของผู้เบียดเบียนศัตรูคือหมู่โจรกิเลส

12 ข้อปฏิบัติที่หมดจดในพระนิพพาน

13 ข้อปฏิบัติที่ผูกสัตว์ไว้ในพระนิพพาน

14 ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปสู่พระนิพพานและยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน

15 ข้อปฏิบัติที่รู้พระนิพพานตามเป็นจริง

16 ข้อปฏิบัติที่บรรจุเหล่าสัตว์ไว้ในพระนิพพาน

17 ข้อปฏิบัติที่เบียดเบียนข้าศึกคือกิเลสของเหล่าสัตว์ในพระนิพพาน

ปารมี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บารมี” พจน.54 บอกไว้ว่า –

บารมี : (คำนาม) คุณความดีที่ควรบําเพ็ญมี ๑๐ อย่าง คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ (การออกจากกาม คือ บวช) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา เรียกว่า ทศบารมี; คุณความดีที่ได้บําเพ็ญมา, คุณสมบัติที่ทําให้ยิ่งใหญ่, เช่นว่า ชมพระบารมี พระบารมีปกเกล้าฯ พ่ายแพ้แก่บารมี. (ป. ปารมี).”

ความหมายรวบยอดของ “บารมี” ก็คือ “คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวดเพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง

บารมีของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า “พระบารมี”

สรรเสริญ + พระบารมี = สรรเสริญพระบารมี เป็นคำประสมแบบไทย มีความหมายว่า กล่าวยกย่องคุณความดีของพระมหากษัตริย์

ผู้มีบุญบารมีที่ได้รับการสรรเสริญ นับเป็นบุคคลที่หาได้ยาก เพราะ –

: บางคน เรียกกันว่า “คนมีบารมี” แต่ไม่น่าสรรเสริญ

: บางคน แม้จะน่าสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีบารมี

22-10-59