บาลีวันละคำ

พุทธบัญญัติ – พุทธานุญาต (บาลีวันละคำ 879)

พุทธบัญญัติพุทธานุญาต

ต่างกันอย่างไร

(๑) “พุทธะ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ ทหาร) อ่านว่า พุด-ทะ

เป็นคำกริยา แปลว่า “รู้แล้ว

เป็นคุณศัพท์แปลว่า ผู้รู้, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน

เป็นคำนาม แปลว่า “พระพุทธเจ้า

(๒) “บัญญัติ

บาลีเป็น “ปญฺญตฺติ” (ปัน-ยัด-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การให้รู้โดยทั่วถึง” “การปูลาด

คำแปลที่ว่า “การปูลาด” เทียบการปูเสื่อ ปูพรม หรือเอาที่นั่งที่นอนมาปูไว้ คือการกำหนดขึ้นว่า ใครจะทำอะไรก็ควรทำหรือต้องทำตามข้อกำหนดอย่างนี้ๆ เหมือนใครนั่งจะนอนก็ควรมานั่งนอนตรงที่ซึ่งปูลาดไว้ให้ ไม่ใช่ไปนั่งนอนเกะกะตามใจชอบ

ปญฺญตฺติ” หมายถึง การประกาศ, การป่าวร้อง, การแจ้งให้รู้, การตั้งขึ้น, ข้อที่กำหนดขึ้น, การกำหนดเรียก, การวางเป็นกฎไว้, ข้อบังคับ, การแสดงให้เห็น, การกำหนด, การตั้งชื่อ, ความคิดหรือแนวความคิด, ความรู้สึก, ความเข้าใจ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปญฺญตฺติ” ว่า making known, manifestation, description, designation, name, idea, notion, concept

ปญฺญตฺติ” ภาษาไทยใช้ว่า “บัญญัติ” (บัน-หฺยัด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัญญัติ : (คำนาม) ข้อความที่ตราหรือกําหนดขึ้นไว้เป็นข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ พุทธบัญญัติ บัญญัติ ๑๐ ประการ. (คำกริยา) ตราหรือกําหนดขึ้นไว้เป็นข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย เช่น บัญญัติศัพท์ บัญญัติกฎหมาย. (ป. ปญฺญตฺติ).”

(๓) “อนุญาต

บาลีเป็น “อนุญฺญาต” (อะ-นุน-ยา-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “รู้ภายหลัง” หรือ “รู้ตาม

หมายความว่า มีความต้องการอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก่อน ผู้มีสิทธิหรือมีอำนาจที่จะสนองความต้องการนั้นก็รับรู้ทีหลัง หรือรับรู้ตามที่ต้องการ และมิได้ปฏิเสธความต้องการนั้น

อนุญฺญาต จึงมีความหมายว่า ยินยอม, ยอมให้, ตกลง (permitted, allowed; sanctioned)

อนุญฺญาต” ภาษาไทยใช้ว่า “อนุญาต” (อะ-นุ-ยาด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุญาต : (คำกริยา) ยินยอม, ยอมให้, ตกลง. (ป. อนุญฺญาต).”

อนุญาต มักมีผู้เขียนผิดเป็น อนุญาติ (มีสระ อิ เกินเข้ามาที่ เต่า) เพราะมีแนวเทียบผิด คิดถึงคำว่า “ญาติ

ญาติ” (บาลีอ่านว่า ยา-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่ยังรู้จักกัน” เป็นคนละคำกับ อนุญาต

พุทธ + บัญญัติ = พุทธบัญญัติ แปลตามตัวว่า “อันพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ” โดยปกติหมายถึงข้อห้าม หรือข้อกำหนดว่าต้องประพฤติปฏิบัติ หรือควรประพฤติปฏิบัติ

พุทธ + อนุญาต = พุทธานุญาต แปลตามตัวว่า “อันพระพุทธเจ้าทรงอนุญาต” หมายถึงเรื่องที่เป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้และพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ปฏิบัติได้

พุทธบัญญัติพุทธานุญาต โดยทั่วไปเป็นเรื่องเกี่ยวโดยตรงกับพุทธบริษัท เช่นระเบียบวินัยและหลักนิยมในการดำรงชีวิตของพระสงฆ์เป็นต้น

สรุปความหมายรวบยอด :

บัญญัติ คือ ห้ามทำ = เป็นหน้าที่

อนุญาต คือ ให้ทำ = เป็นสิทธิ

หลักปฏิบัติที่ตรงไปตรงมา :

สิ่งที่เป็นพุทธบัญญัติ = หน้าที่ : ต้องทำอย่างเคร่งครัด

สิ่งที่เป็นพุทธานุญาต = สิทธิ : ทำเมื่อพร้อม ไม่พร้อมก็ไม่ต้องทำ

เช่น กฐิน เมื่อพร้อมจะรับสิทธิ ก็รับ เมื่อยังไม่พร้อมจะรับ เช่นองค์ประกอบไม่สมบูรณ์หรือมีเงื่อนแง่ที่เป็นปัญหา ก็สละสิทธิ์

หลักปฏิบัติที่ไขว้เขว :

หน้าที่ : ทำเมื่อพร้อม ไม่พร้อมก็ไม่ต้องทำ (จึงมักหาเหตุไม่พร้อมอยู่เนืองๆ)

สิทธิ : ต้องทำอย่างเคร่งครัด (แม้องค์ประกอบไม่ครบสมบูรณ์ก็พยายามหาวิธี เช่นตีความให้เห็นว่าอย่างนั้นก็ใช้ได้ อย่างโน้นก็ใช้ได้)

อีกนัยหนึ่ง :

พุทธบัญญัติ = การควรเว้น

พุทธานุญาต = การควรประพฤติ

: รู้ได้อย่างไรว่าเจริญหรือเสื่อม ?

– ประพฤติการควรประพฤติ เว้นการควรเว้น : เจริญ

– เว้นการควรประพฤติ ประพฤติการควรเว้น : เสื่อม

#บาลีวันละคำ (879)

14-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *