อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ (บาลีวันละคำ 1,609)
อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์
คำบาลีคือ “อภิธรรม” อ่านว่า อะ-พิ-ทำ
ประกอบด้วย อภิ + ธรรม
(๑) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)
(๒) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในที่นี้ “ธรรม” หมายถึง คําสั่งสอนในศาสนา
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ “ธรรมคาถา – ธรรมกถา” : บาลีวันละคำ (1,605) 26-10-59)
อภิ + ธมฺม = อภิธมฺม > อภิธรรม
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อภิธรรม” ไว้ดังนี้ –
อภิธรรม : ธรรมอันยิ่ง ทั้งยิ่งเกิน (อภิ-อติเรก) คือมากกว่าธรรมอย่างปกติ และยิ่งพิเศษ (อภิวิเสส) คือเหนือกว่าธรรมอย่างปกติ, หลักและคำอธิบายธรรมที่เป็นเนื้อหาสาระแท้ๆ ล้วนๆ ซึ่งจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบและเป็นลำดับ จนจบความอย่างบริบูรณ์ โดยไม่กล่าวถึง ไม่อ้างอิง และไม่ขึ้นต่อบุคคล ชุมชน หรือเหตุการณ์ อันแสดงโดยเว้นบัญญัติโวหาร มุ่งตรงต่อสภาวธรรม ที่ต่อมานิยมจัดเรียกเป็นปรมัตถธรรม 4 คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน, เมื่อพูดว่า “อภิธรรม” บางทีหมายถึงพระอภิธรรมปิฎก บางทีหมายถึงคำสอนในพระอภิธรรมปิฎกนั้น ตามที่ได้นำมาอธิบายและเล่าเรียนกันสืบมา เฉพาะอย่างยิ่ง ตามแนวที่ประมวลแสดงไว้ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ, บางที เพื่อให้ชัดว่าหมายถึงพระอภิธรรมปิฎก ก็พูดว่า “อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์”
……….
“อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์” หมายถึงพระอภิธรรมปิฎกประกอบด้วยคัมภีร์ต่างๆ 7 คัมภีร์ คือ –
(1) สังคณี (สัง-คะ-นี) เรียกเต็มว่า ธัมมสังคณี แปลตามศัพท์ว่า “คัมภีร์ประมวลธรรม”
คำขึ้นต้นว่า “กุสะลา ธัมมา”
เป็นคัมภีร์แสดงมาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้งชุด 3 เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง, เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง, ฯลฯ และชุด 2 เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง, รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง, โลกียธรรม โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่ง เป็นต้น รวมทั้งหมดมี 164 ชุด หรือ 164 มาติกา
(2) วิภังค์ (วิ-พัง) แปลตามศัพท์ว่า “จำแนก”
คำขึ้นต้นว่า “ปัญจักขันธา”
ยกหลักธรรมสำคัญๆ ขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่จนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด 18 เรื่อง
(3) ธาตุกถา (ทา-ตุ-กะ-ถา, คนเก่าออกเสียงว่า ทาด-ตุ-) แปลตามศัพท์ว่า “กถาว่าด้วยเรื่องธาตุ”
คำขึ้นต้นว่า “สังคะโห”
เป็นการนำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก 125 อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ 5 อายตนะ 12 และธาตุ 18 ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ
(4) ปุคคลบัญญัติ (ปุก-คะ-ละ-บัน-หฺยัด) แปลตามศัพท์ว่า “บัญญัติว่าเป็นบุคคล”
คำขึ้นต้นว่า “ฉะ ปัญญัตติโย”
แสดงการบัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า โสดาบัน ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ 3 ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น
(5) กถาวัตถุ (กะ-ถา-วัด-ถุ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งแห่งคำกล่าว” หรือ “เรื่องที่ยกขึ้นมาพูด”
คำขึ้นต้นว่า “ปุคคะโล”
เป็นคัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ 3 เรียบเรียงขึ้น เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง 18 นิกาย เช่นความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรม เป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด 219 กถา
(6) ยมก (ยะ-มก)
คำขึ้นต้นว่า “เย เกจิ กุสะลา ธัมมา”
อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า “คู่”) เช่น ถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์ (ทั้งหมด) เป็นรูป, ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์
(7) ปัฏฐาน (ปัด-ถาน)
คำขึ้นต้นว่า “เห-ตุ-ปัจจะโย”
อธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือข้อธรรมที่มีในมาติกาคือแม่บทหรือบทสรุปธรรมซึ่งกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณีนั่นเอง คัมภีร์ปัฏฐานนี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มหาปกรณ์” แปลว่า “ตำราใหญ่” ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญ บางทีเรียก “มหาปัฏฐานอนันตนัย” แปลว่า “ปัฏฐานใหญ่มีนัยอันไม่สิ้นสุด”
โบราณาจารย์จับเอาคำต้นของชื่อคัมภีร์ทั้ง 7 มาเรียงกันเพื่อจำง่ายว่า “สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ” เรียกว่า “หัวใจพระอภิธรรมปิฎก”
อรรถกถาเล่าว่า พระอภิธรรมเป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโปรดพระพุทธมารดา ตลอดพรรษา ณ ดาวดึงสเทวโลก ในปีที่ 7 แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ
…………..
เวลาฟังสวดพระอภิธรรม มักมีเสียงบ่นว่าฟังไม่รู้เรื่อง ผู้รู้ท่านแนะเคล็ดลับในการฟังไว้ว่า “ฟังเทศน์เอาปัญญา ฟังสวด (พระอภิธรรม) เอาสมาธิ” คือแม้ฟังไม่รู้เรื่องก็สามารถใช้เสียงที่พระสวดเป็นอุปกรณ์เจริญสมาธิได้
…………..
: ประโยชน์ของยาอยู่ที่รักษาเจ็บไข้
: ประโยชน์ของธรรมนั้นไซร้อยู่ที่เอาไปปฏิบัติ
30-10-59