กอุพากัม (บาลีวันละคำ 2435)
กอุพากัม
กรรมของคำย่อ
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้รับคำถามว่า คำว่า “กอุพากัม” มีความหมายว่าอย่างไร ผู้ถามได้ส่งภาพจากหนังสือที่มีคำว่า “กอุพากัม” มาให้ดูด้วย (โปรดดูภาพประกอบ)
ข้อความจากหนังสือดังกล่าวเป็นคำโฆษณาสินค้าจำพวกของกิน ข้อความเฉพาะที่เกี่ยวข้องมีว่า –
…………..
ได้รับรางวัลที่ ๑ ทั่วพระราชอาณาจักร
ในการประกวดกอุพากัม ณ กรุงเทพฯ
…………..
ได้ลองค้นคำว่า “กอุพากัม” จาก google พบว่ามีอ้างถึงในหนังสือชื่อ “ตลาดพลู” เขียนโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “หลวงเมือง” หน้า 89 ข้อความมีว่า (ดูภาพประกอบ) –
…………..
การดำเนินเรื่อง “เลือดชนบท” อยู่ในท้องไร่ท้องนาธรรมดาซึ่งเป็นชนบทของไทยสมัยนั้นยังไปไม่ถึง “ชาวนาวัฒนา” ซึ่งเป็นศัพท์รุ่นเดียวกับ “กอุพากัม” อยู่ในภาพยนตร์เรื่อง “บ้านไร่นาเรา” การไปมาหาสู่กันก็เดินหรือขี่ควายไป
…………..
หนังสือตามที่อ้าง เพียงแต่ยกคำว่า “กอุพากัม” มากล่าว แต่ไม่มีคำอธิบายว่าคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์เขียน วงศ์ศรีสังข์ ป.ธ.9 (2484) สำนักวัดสุวรรณาราม (ท่านเดียวกับที่สันนิษฐานคำว่า “ทุกขะโต ทุกขะฐานัง”) เคยถามผู้เขียนบาลีวันละคำสมัยทำงานอยู่ที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุว่า เคยได้ยินคำว่า “กอุพากัม” หรือไม่ เมื่อตอบว่าไม่เคยได้ยิน ท่านได้อธิบายให้ฟังว่า –
“กอุพากัม” อ่านว่า กะ-อุ-พา-กำ เป็นคำที่ตัดมาจากคำเต็มคือ –
“ก” ตัดมาจากคำ “เกษตรกรรม”
“อุ” ตัดมาจากคำ “อุตสาหกรรม”
“พา” ตัดมาจากคำ “พาณิชยกรรม”
เอาอักษรส่วนหน้าของคำทั้ง 3 มารวมกันเป็น “กอุพา” แล้วเอาคำว่า “กรรม” อันเป็นคำส่วนท้ายของทั้ง 3 คำมาประกอบเป็น “กอุพากรรม”
แต่ในช่วงเวลานั้น (ซึ่งน่าจะเป็นสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ) รัฐบาลใช้นโยบาย “รัถนิยม” (รัฐนิยม) อันเป็นเหตุผลทางการเมืองปฏิรูปการเขียนภาษาไทย ตัวสะกดที่มาจากบาลีสันสกฤตถูกยกเลิก เช่นคำว่า “รัฐบาล” ก็ให้สะกดเป็น “รัถบาล” แม้คำไทยเช่น “ทรง” ก็ให้สะกดเป็น “ซง” เป็นต้น คำว่า “กอุพากรรม” จึงสะกดเป็น “กอุพากัม”
“กอุพากัม” หมายถึงการผลิตหรือผลผลิตที่เกิดจากเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ซึ่งเวลานั้นถือว่า ทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นระบบการผลิตที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างยิ่ง
นโยบาย “รัถนิยม” ใช้อยู่ได้ไม่นานก็ยกเลิกไป ตกมาถึงเวลานี้ก็แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “รัฐนิยม” ด้วยซ้ำไป ยิ่งคำว่า “กอุพากัม” ด้วยแล้วคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักและไม่มีทางรู้ว่าแปลว่าอะไร
ข้อคิดแถม :
น่าคิดว่า คำที่คิดขึ้นมาแล้วไม่มีคนเข้าใจ จะคิดขึ้นมาทำไม?
โลกทุกวันนี้มีข้อมูลข่าวสารท่วมท้น เรียกได้ว่าท่วมโลก เราไม่สามารถรู้อะไรได้หมดทุกเรื่อง เช่นเดียวกับ-เมื่อมีใครสื่อสารอะไรออกมา เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้หมดทุกเรื่อง
แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ เมื่อจะสื่อสารอะไรกับใคร เราควรสามารถทำให้เขาเข้าใจหรือรู้เรื่องได้อย่างน้อยก็เท่าๆ กับที่เรารู้และเข้าใจ
เพราะมิเช่นนั้น เราอาจถูกตั้งคำถามว่า พูดแล้วไม่มีคนเข้าใจ จะพูดทำไม?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จงรู้ทุกเรื่องที่พูด
: แต่อย่าพูดทุกเรื่องที่รู้
————-
(ตอบคำถามของ Ekkalak Max)
#บาลีวันละคำ (2,435)
11-2-62