พระเบญจา (บาลีวันละคำ 1,963)
พระเบญจา
มาจากไหน
หนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่ อธิบายคำว่า “พระเบญจา” ไว้ดังนี้ –
…………..
พระเบญจา : เป็นพระแท่นทำเป็นฐานซ้อนขึ้นไป ๕ ชั้น บางครั้งทำเป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้น หรือ ๔ ชั้น ขึ้นอยู่กับขนาดที่ตั้ง โดยทั่วไปมักทำขึ้น ๔ ชั้น เมื่อนับรวมทั้งฐานหรือที่ตั้งด้วยจึงเป็น ๕ ชั้น ใช้วางพระบรมโกศ พระโกศ หรือวางเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศเจ้านายชั้นสูง และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ หรือสำหรับประดิษฐานบุษบกพระพุทธรูป
…………..
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “เบญจา” บอกไว้ดังนี้ –
“เบญจา : (คำนาม) แท่นมีเพดานดาดและระบายผ้าขาว, แท่นซ้อน ๕ ชั้นลดหลั่นกัน มักใช้ประดิษฐานบุษบกหรือพระโกศ. (เพี้ยนมาจาก มัญจา คือ เตียง).”
…………..
อภิปราย :
โปรดสังเกตว่า –
๑ หนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” อธิบายว่า “… เป็นพระแท่นทำเป็นฐานซ้อนขึ้นไป ๕ ชั้น … โดยทั่วไปมักทำขึ้น ๔ ชั้น เมื่อนับรวมทั้งฐานหรือที่ตั้งด้วยจึงเป็น ๕ ชั้น …”
๒ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกว่า “แท่นซ้อน ๕ ชั้นลดหลั่นกัน”
ล้วนส่อนัยว่า “เบญจา” คือ “เบญจ” ที่มาจากคำว่า “ปญฺจ” ในบาลี ซึ่งแปลว่า ห้า (จำนวน 5)
แต่พร้อมกันนั้นเอง พจนานุกรมฯ ก็บอกเสมือนคำยืนยันไว้อีกว่า “เพี้ยนมาจาก มัญจา คือ เตียง”
ทำให้สับสนขึ้นมาทันทีว่า “เบญจา” มาจาก “เบญจ” = ห้า หรือมาจาก “มัญจา” = เตียง กันแน่
บาลีมีศัพท์ว่า “มญฺจ” (มัน-จะ) และ “มญฺจก” (มัน-จะ-กะ) รากศัพท์มาจาก มจฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ญฺ (มจฺ > มํจ > มญฺจ)
: มจฺ > มํจ > มญฺจ + อ = มญฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่รองรับ”
มญฺจ + ก สกรรถ* (กะ สะ-กัด) = มญฺจก
*หมายเหตุ: “สกรรถ” คือ คำที่เพิ่มเข้าข้างหลังคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้ว มีความหมายคงเดิม
“มญฺจ” และ “มญฺจก” (ปุงลิงค์) หมายถึง ที่นอน, เก้าอี้นอน, เตียงนอน (bed, couch, bedstead)
“มญฺจ” และ “มญฺจก” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) มญฺจ : (คำนาม) ‘มัญจา, มัญจาอาสน์,’ ที่นอน, เตียงหรือแท่นที่ศัยยา; ชั้นยก, ร่างร้าน (หรือ นั่งร้าน ตามปรากฤตนิยม); ห้างนา; พระที่, พระที่นั่ง, ราชบัลลังก์; a bed, a bedstead; a platform, a scaffold; an elevated shed raised on bamboos in a cornfield; a throne, a chair of state.
(2) มญฺจก : (คำนาม) ‘มัญจก,’ ที่นอน, เตียงหรือแท่นที่ศัยยา; ชั้นยก, ร่างร้าน; a bed, a bedstead; a platform, a scaffold.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มัญจกะ, มัญจา : (คำนาม) เตียง, ที่นอน. (ป., ส. มญฺจ, มญฺจก).”
โปรดสังเกตว่า “มญฺจ” ในบาลีสันสกฤต นิยมใช้เป็น “มัญจา” ในภาษาไทย
สรุปว่า “เบญจา” อาจมาจาก “เบญจ” (ห้า) ก็ได้ มาจาก “มัญจา” (เตียงหรือแท่น) ก็ได้
“เบญจา” ราชาศัพท์เรียกว่า “พระเบญจา”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขอทวยไทยจงประพฤติธรรมให้หนักแน่น
: ถวายพระธรรมต่างพระแท่นทิพยเบญจา-จงทั่วกันเทอญ
—————–
(ภาพประกอบ จากเฟซบุ๊กของ Pirasri Povatong โพสต์เมื่อ 20 ตุลาคม 2559)
#บาลีวันละคำ (1,963)
24-10-60