สิม – สีมา (บาลีวันละคำ 3,628)
สิม – สีมา
เขตสังฆกรรม
อ่านตรงตัวว่า สิม สี-มา
คำว่า “สิม” เป็นคำหนึ่ง “สีมา” เป็นอีกคำหนึ่ง แต่ผู้รู้บอกว่า “สิม” เป็นคำที่ตัดมาจาก “สีมา” นั่นเอง
“สีมา” อ่านว่า สี-มา รากศัพท์มาจาก สี (ธาตุ = ผูก) + ม ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สี + ม = สีม + อา = สีมา แปลตามศัพท์ว่า “ขอบเขตอันสงฆ์พร้อมเพรียงกันผูกไว้ด้วยการสวดกรรมวาจา” หมายถึง แดน, ขอบเขต, ตำบล (boundary, limit, parish)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สีมา : (คำนาม) เขต, แดน; เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทําด้วยแผ่นหินหรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา, ใบสีมา หรือ ใบเสมา ก็ว่า. (ป., ส.).”
และที่คำว่า “เสมา” บอกไว้ว่า –
“เสมา ๑ : (คำนาม) สีมา, เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์; เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายใบสีมาที่เรียงกันอยู่บนกําแพงอย่างกําแพงเมืองว่า ใบเสมา; เครื่องประดับหรือเครื่องรางสําหรับห้อยคอ มีรูปร่างอย่างใบเสมา. (ป., ส. สีมา).”
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “สิม” (อ่านเมื่อ 19 พฤษภาคม 2565 เวลา 20:30 น.) มีข้อความบางตอนดังนี้ – (ปรับแก้วรรคตอนและอักขรวิธีเล็กน้อย)
…………..
สิม หมายถึง โรงที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมต่าง ๆ เป็นภาษาพื้นถิ่นในวัฒนธรรมล้านช้างและภาคอีสานของประเทศไทย มีความหมายเดียวกับโบสถ์หรืออุโบสถของภาคกลางในประเทศไทย
คำว่า “สิม” มาจากคำว่า สีมา สิมมา หรือพัทธสีมา ที่ปรากฏในคำจารึกบนแผ่นหินที่ประกาศเจตนาอุทิศของผู้สร้างปักไว้ด้านหลังสิมมีปรากฏอยู่ทั่วไป ความหมายของคำเหล่านี้ หมายถึง เขตแดนที่กำหนดในการประชุมทำสังฆกรรมอันเป็นกิจของสงฆ์โดยมีแผ่นสีมาหินเป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตรอบบริเวณตัวสิม
ลักษณะโดยทั่วไปของสิม แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ตามสภาพของแหล่งที่ตั้ง คือ สิมน้ำและสิมบก
สิมน้ำ เป็นสิมที่ตั้งอยู่กลางน้ำ เช่น สระ หนอง บึง ส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สร้างอย่างชั่วคราวสำหรับวัดที่ยังไม่มีวิสุงคามสีมา
สิมบก เป็นสิมที่ตั้งอยู่บนแผ่นดิน มีลักษณะเป็นอาคารถาวร
นอกจากนี้ สิมยังแบ่งตามลำดับอายุก่อนหลังและลักษณะร่วมในรูปแบบได้เป็น 4 ประเภท คือ สิมก่อผนังแบบดั้งเดิม สิมโถง สิมก่อผนังรุ่นหลัง และสิมแบบผสม
…………..
เมื่อ “สิม” มาจาก “สีมา” ก็ควรหาความรู้เกี่ยวกับ “สีมา” ให้กว้างออกไปอีก
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “สีมา” และคำอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสีมา ขอนำมาเสนอรวมไว้ในที่นี้ ดังนี้ –
…………..
(1) สีมา : เขตกำหนดความพร้อมเพรียงสงฆ์, เขตชุมนุมของสงฆ์, เขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่คือ ๑. พัทธสีมา แดนที่ผูก ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง ๒. อพัทธสีมา แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่เขตที่ทางบ้านเมืองกำหนดไว้แล้วตามปกติของเขา หรือที่มีอย่างอื่นในทางธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด สงฆ์ถือเอาตามกำหนดนั้นไม่วางกำหนดขึ้นเองใหม่.
(2) พัทธสีมา : “แดนผูก” ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง โดยจัดตั้งนิมิตคือสิ่งที่เป็นเครื่องหมายกำหนดเอาไว้.
(3) อพัทธสีมา : “แดนที่ไม่ได้ผูก” หมายถึงเขตชุมนุมสงฆ์ที่สงฆ์ไม่ได้กำหนดขึ้นเอง แต่ถือเอาตามเขตที่เขาได้กำหนดไว้ตามปรกติของบ้านเมือง หรือมีบัญญัติอย่างอื่นเป็นเครื่องกำหนด แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. คามสีมา หรือ นิคมสีมา ๒. สัตตัพภันตรสีมา ๓. อุทกุกเขป.
(4) คามสีมา : “แดนบ้าน” คือเขตที่กำหนดด้วยบ้าน, สีมาที่ถือกำหนดตามเขตบ้าน เป็นอพัทธสีมาอย่างหนึ่ง.
(5) นิคมสีมา : แดนนิคม, อพัทธสีมาที่สงฆ์กำหนดด้วยเขตนิคมที่ตนอาศัยอยู่.
(6) สัตตัพภันตรสีมา : อพัทธสีมาชนิดที่กำหนดเขตแห่งสามัคคีขึ้นในป่า อันหาคนตั้งบ้านเรือนมิได้ โดยวัดจากที่สุดแนวแห่งสงฆ์ออกไปด้านละ ๗ อัพภันดรโดยรอบ.
(7) อุทกุกเขป : เขตสามัคคีชั่ววักน้ำสาดแห่งคนมีอายุและกำลังปานกลาง หมายถึง เขตชุมนุมทำสังฆกรรมที่กำหนดลงในแม่น้ำหรือทะเล ชาตสระ (ที่ขังน้ำเกิดเองตามธรรมชาติ เช่น บึง หนอง ทะเลสาบ) โดยพระภิกษุประชุมกันบนเรือ หรือบนแพ ซึ่งผูกกับหลักในน้ำ หรือทอดสมออยู่ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ห้ามผูกโยงเรือหรือแพนั้น กับหลักหรือต้นไม้ริมตลิ่ง และห้ามทำในเรือหรือแพที่กำลังลอยหรือเดิน); อุทกุกเขปนี้ จัดเป็นอพัทธสีมาอย่างหนึ่ง.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มีเขตแดนเป็นเรื่องดี
: แต่ทำดีอย่าติดที่เขตแดน
——————————
ภาพและคำบรรยายภาพของ Pakorn Pukkahuta
——————————
#บาลีวันละคำ (3,628)
19-5-65
……………………………………………..
……………………………………………..