ปัญญาชน (บาลีวันละคำ 2,551)
ปัญญาชน
ดูกันที่ตรงไหน
อ่านว่า ปัน-ยา-ชน
ประกอบด้วยคำว่า ปัญญา + ชน
(๑) “ปัญญา”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปญฺญา” (มีจุดใต้ ญ ตัวหน้า) อ่านว่า ปัน-ยา รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ป + ญฺ + ญา)
: ป + ญฺ + ญา = ปญฺญา + กฺวิ = ปญฺญากฺวิ > ปญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “การรู้โดยทั่วถึง”
นักอธิบายธรรมะอธิบายลักษณะของ “ปญฺญา” โดยอาศัยความหมายตามรากศัพท์ว่า “ปัญญา” มีความหมายว่า –
(1) “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง”
(2) “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)
(3) “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด”
(4) “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ปญฺญา” ไว้ดังนี้ –
(1) ความหมายตามตัวอักษร :
“intellect as conversant with general truths” (พุทธิปัญญาอันประกอบด้วยความช่ำชองในเรื่องสัจจะโดยทั่วๆ ไป)
(2) intelligence, comprising all the higher faculties of cognition (ความฉลาด, พุทธิปัญญาประกอบด้วยประติชานหรือความรู้ชั้นสูง)
(3) reason, wisdom, insight, knowledge, recognition (เหตุผล, ปัญญา, การเล็งเห็น, ความรู้, ประติชาน)
“ปญฺญา” เขียนแบบไทยเป็น “ปัญญา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปัญญา : (คำนาม) ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด, เช่น คนมีปัญญา หมดปัญญา. (ป.).”
(๒) “ชน”
บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย
: ชนฺ + อ = ชน (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้
(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก
“ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)
ปัญญา + ชน = ปัญญาชน แปลตามศัพท์ว่า “คนมีปัญญา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปัญญาชน : (คำนาม) คนที่มีความรู้หรือความฉลาดอันเกิดแต่การเรียนมามาก.”
พจนานุกรมฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร บอกความหมายของ “ปัญญาชน” ว่า “คนมีความรู้ หมายถึงนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา.”
พจนานุกรมไทย-อังกฤษทั่วๆ ไปแปล “ปัญญาชน” เป็นอังกฤษว่า scholar
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล scholar เป็นไทยว่า –
1. นักเรียน
2. ผู้ที่ได้รับทุนเล่าเรียน
3. นักศึกษา, ผู้รอบรู้
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล scholar เป็นบาลีดังนี้ –
(1) sissa สิสฺส (สิด-สะ) = ผู้ใฝ่รู้
(2) sekkha เสกฺข (เสก-ขะ) = ผู้มุ่งศึกษา
(3) bahussuta พหุสฺสุต (พะ-หุด-สุ-ตะ) = ผู้คงแก่เรียน
(4) paṇdita ปณฺฑิต (ปัน-ดิ-ตะ-) = ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
อภิปราย :
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ปัญญาชน” เรามักนึกเป็นคำสรุปว่า “คนที่มีการศึกษา” และมักเล็งไปถึงคนที่กำลังศึกษาหรือจบการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา หรือเรียกรวมๆ ว่า คนมีปริญญา ซึ่งควรจะมีคุณสมบัติพื้นฐาน คือ มีวิชาความรู้ (ตามสายที่เรียนมา) มีเหตุผล รู้จักคิด รู้การควรไม่ควร ตรงกันข้ามกับ “คนที่ไม่ได้รับการศึกษา” คือคนที่เรียนไม่สูง ไม่จบปริญญา
ดูเหมือนว่า ทางโลก วัดความเป็น “ปัญญาชน” กันด้วยการเรียนในสถาบันอุดมศึกษา ใครเป็นนิสิตนักศึกษา ใครจบจากมหาวิทยาลัย คนนั้นเป็น “ปัญญาชน” เรียกกันอีกนามหนึ่งว่า “บัณฑิต” เพราะได้รับปริญญาบัตร – ดูกันแค่นั้น
แต่ในทางธรรม วัดความเป็น “ปัญญาชน” หรือ “บัณฑิต” กันที่คุณสมบัติ คือ เว้นกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต เว้นวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต เว้นมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต ซึ่งรวมเรียกว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา”
แม้ผู้นั้นจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรือไม่รู้วิทยาการใดๆ เลย ท่านก็เรียกว่าเป็น “ปัญญาชน” หรือ “บัณฑิต” โดยแท้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ปัญญาของคนพาลมีไว้เพื่อสร้างปัญหา
: ปัญญาของบัณฑิตมีไว้เพื่อสางปัญหา
#บาลีวันละคำ (2,551)
7-6-62