บาลีวันละคำ

คณาจารย์ (บาลีวันละคำ 883)

คณาจารย์

คำถูกที่ถูกทำให้ผิด

ในที่ชุมนุมที่มีนักเรียนนักศึกษาครูบาอาจารย์รวมกัน เรามักจะได้ยินคำทักที่ประชุมว่า

… ท่านประธานที่เคารพ ท่านคณาจารย์ และนักเรียนนักศึกษาทุกท่าน …

คณาจารย์” แปลว่าอะไร ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คณาจารย์ : (คำนาม) คณะอาจารย์. (ส. คณ + อาจารฺย).”

คณะอาจารย์” ตามความหมายของ “คณาจารย์” ที่ พจน.54 ให้ไว้ พูดเต็มๆ ก็คือ “คณะ (ของ) อาจารย์” เป็นคำชนิดเดียวกับ คณะครู คณะศิษยานุศิษย์ คณะนักเรียน คณะข้าราชการ ฯลฯ นั่นเอง คือเอาคำว่า “คณะ” ไปประสมกับคำนั้นๆ ตามแบบคำไทย

คณะ + (ของ) ครู = คณะครู

คณะ + (ของ) ศิษยานุศิษย์ = คณะศิษยานุศิษย์

คณะ + (ของ) นักเรียน = คณะนักเรียน

คณะ + (ของ) ข้าราชการ = คณะข้าราชการ

ตามหลักคำสมาสสนธิจะไม่ประวิสรรชนีย์กลางคำ เช่น

สาธารณะ + สุข = สาธารณสุข

ไม่ใช่ สาธารณะสุข

การที่เขียนว่า “คณะครู” (ประวิสรรชนีย์กลางคำ) เป็นข้อยืนยันว่า คำพวกนี้ (คณะครู คณะศิษยานุศิษย์ คณะนักเรียน คณะข้าราชการ ฯลฯ) เป็นคำประสมแบบไทย

คณะอาจารย์” (ความหมายของ “คณาจารย์” ตามพจน.54) หรือ “คณะ (ของ) อาจารย์” ก็คือ คณะ + (ของ) อาจารย์ ทำนองเดียวกับคำอื่นๆ นั่นเอง

ถ้า คณะ + (ของ) อาจารย์ = คณาจารย์ (ลบสระ อะ ออกเพราะเป็นคำสมาสสนธิ)

คณะ + (ของ) ครู ก็ต้องเป็น “คณครู” (ลบสระ อะ ออกด้วยเหตุผลเดียวกัน) ได้ด้วย

ถ้าตอบว่า คณะ + (ของ) ครู = คณะครู เป็นคำประสม

ก็แล้วทำไม คณะ + (ของ) อาจารย์ จึงไม่เป็นคำประสม = “คณะอาจารย์” ด้วยเล่า

เอาอำนาจอะไรมาทำคำนี้ให้เป็นสมาสสนธิในเมื่อแปลแบบคำประสม และคำอื่นๆ ในชุดเดียวกันก็เป็นคำประสมทั้งนั้น

ถ้าตอบว่า คณะ + (ของ) ครู จะสมาสสนธิเป็น “คณครู” ไม่ได้

ก็แล้วทำไม คณะ + (ของ) อาจารย์ จึงสมาสสนธิเป็น “คณาจารย์” ได้เล่า

ของดการอภิปรายไว้เพียงเท่านี้ก่อน

คราวนี้มาพูดถึง “คณาจารย์” คำเดิมในบาลี

คณาจารย์” อ่านว่า คะ-นา-จาน

พจน.54 บอกว่า มาจากสันสกฤตว่า คณ + อาจารฺย

คำนี้บาลีเป็น “คณาจริย” อ่านว่า คะ-นา-จะ-ริ-ยะ

ประกอบด้วย คณ + อาจริย

คณ” รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน” หมายถึง คณะ, หมู่, พวก, กลุ่ม, กอง (ดูเพิ่มเติมที่ “คณะ” บาลีวันละคำ (882) 17-10-57)

อาจริย” (อา-จะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา + จรฺ + อิย = อาจริย

อา” เป็นคำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง และเป็นคำแทนคำว่า “อาทิ” = แต่เดิม, เริ่มแรก และ “อาทร” (อา-ทะ-ระ) = เอาใจใส่, ให้ความสำคัญ

จรฺ” เป็นธาตุ (รากศัพท์) = ประพฤติ, บำเพ็ญ, ศึกษา

อิย” เป็นคำปัจจัย = พึง, ควร

อาจริย” แปลตามศัพท์ว่า –

(1) ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์

(2) ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น

(3) ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่

(4) ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง

ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤต คือ “อาจารฺย” เขียนว่า “อาจารย์” อ่านว่า อา-จาน

(ดูเพิ่มเติมที่ “อาจริย” บาลีวันละคำ (133) 18-9-55)

คณ + อาจริย = คณาจริย > คณาจารย์ แปลตามศัพท์ว่า “อาจารย์ของคณะ

คำว่า “คณาจารย์” ถ้าแปลว่า “อาจารย์ประจำคณะ” อาจช่วยให้มองเห็นภาพของคำชัดขึ้น

ขอให้ระลึกถึงวัฒนธรรมของการก่อตั้งสำนักทางลัทธิศาสนาซึ่งแปรมาเป็นสำนักทางการศึกษา

สำนักเก่าแก่ในสังคมไทยคือ วัด ซึ่งเป็นทั้งสำนักทางศาสนาและสำนักทางการศึกษาด้วย

วัดสำคัญๆ ที่เห็นกันอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดมหาธาตุ (ที่ท่าพระจันทร์) วัดบวรนิเวศ วัดเหล่านี้ล้วนมี “คณะ” หลายคณะอยู่ในวัด

เช่น วัดบวรนิเวศ มีคณะบวรรังษี คณะเหลืองรังษี คณะขาบรังษี นี่ใช้ถ้อยคำเป็นชื่อคณะ

วัดมหาธาตุ ใช้ตัวเลขเป็นชื่อคณะ มีตั้งแต่คณะ ๑ คณะ ๒ เรื่อยไป แต่ก็มีคณะหนึ่งชื่อ “คณะสลัก” อันเป็นชื่อเก่าของวัดอยู่ในวัดมหาธาตุนี้

วัดพระเชตุพนฯ ใช้ตัวเลขปนกับถ้อยคำ เช่น คณะกลาง ๑ คณะใต้ ๕ อะไรประมาณนี้

วัดอื่นๆ ทั่วไป ก็จะมีคณะต่างๆ ทำนองเดียวกัน

พระที่ทำหน้าที่ปกครองดูแลประจำคณะ เรียกวา “เจ้าคณะ

เจ้าคณะ ไม่ใช่เจ้าอาวาส แต่ขึ้นกับเจ้าอาวาสอีกทีหนึ่ง

คำว่า “เจ้าคณะ” ถ้าเทียบกับตำแหน่งในมหาวิทยาลัยก็ตรงกับคำว่า “คณบดี” นั่นเอง (คณ + ปติ = คณปติ > คณบดี, ปติ แปลว่า เจ้านาย, ผัว)

คณบดีขึ้นกับอธิการบดี แบบเดียวกับเจ้าคณะขึ้นกับเจ้าอาวาส

คณะต่างๆ ในวัด จะมีพระภิกษุสามเณรรวมตลอดถึงศิษย์วัดอยู่ในสังกัด ทำนองเดียวกับนิสิตนักศึกษาในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

เจ้าคณะจะแต่งตั้งพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถให้ช่วยทำหน้าที่อบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรและศิษย์ในคณะของตน

นี่คือ “คณาจารย์” ในความหมายดั้งเดิม คือ “อาจารย์ของคณะ” หรือ “อาจารย์ประจำคณะ

คำว่า “คณาจริย” ( = คณาจารย์) เป็นคำเก่า มีใช้ในพระไตรปิฎก พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า a teacher of a crowd

ถ้าแปลงศัพท์เป็น a teacher of the faculty ก็จะตรงกับความหมายแบบไทย คือ “อาจารย์ประจำคณะ

ในขณะที่ “คณาจารย์” = “คณะอาจารย์” ตามความหมายของ พจน.54 ถ้าแปลเป็นอังกฤษก็ควรจะเป็น a group of teachers ซึ่งไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับ a crowd หรือ the faculty ใดๆ

บางคณะในวัดอาจมีอาจารย์ประจำคณะเพียงรูปเดียว แต่ก็ยังได้นามว่า “คณาจารย์” อยู่นั่นเอง เพราะคำว่า “อาจารย์ประจำคณะ” ไม่ได้จำกัดด้วยจำนวนอาจารย์

ตามความหมายใน พจน.54 “คณาจารย์” คือ “คณะ (ของ) อาจารย์” หมายถึงอาจารย์หลายคนมารวมกันเป็นคณะ จึงจะเป็น “คณาจารย์” ได้ อาจารย์คนเดียวเรียกว่า “คณาจารย์” ไม่ได้

กรณีเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า “คณาจารย์” ตามความหมายเดิม ไม่ใช่ “คณาจารย์” ตามความหมายใน พจน.54 เพราะตามความหมายเดิมอาจารย์รูปเดียวก็เป็น “คณาจารย์” ได้ แต่จะเป็น “คณะอาจารย์” หาได้ไม่

สรุปว่า “คณาจารย์” ความหมายดั้งเดิมแปลว่า “อาจารย์ของคณะ” คือ อาจารย์ประจำคณะ เป็นคำสมาสด้วย สนธิด้วย แปลจากข้างหลังไปหน้า

แต่ “คณาจารย์” ที่แปลว่า “คณะอาจารย์” ตาม พจน.54 แปลจากข้างหน้าไปหลัง

จริงอยู่ สมาสสนธิบาลีแปลจากข้างหน้าไปหลังก็มี แต่ไม่ควรเป็นคำนี้

ถ้าจะให้แปลว่า “คณะ (ของ) อาจารย์” รูปศัพท์ควรจะเป็น “อาจารยคณะ

ถ้าจะให้มีความหมายว่า “คณะของอาจารย์” ใช้ว่า “คณะอาจารย์” ดีที่สุด เป็นคำประสมตรงตัวอยู่แล้ว

ลองเทียบดู :

คณะครู

คณะศิษยานุศิษย์

คณะนักเรียน

คณะอาจารย์

รูปคำเสมอกัน และไม่ไปสับสนกับ “คณาจารย์” ที่มีมาแต่เดิมด้วย

ทางออกแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นก็คือ แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “คณาจารย์” จากเดิมที่ว่า –

คณาจารย์ : (คำนาม) คณะอาจารย์. (ส. คณ + อาจารฺย).”

เป็นทำนองนี้ –

คณาจารย์ : (คำนาม) คณะอาจารย์; อาจารย์ในคณะ, อาจารย์ประจำคณะในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่า. (ส. คณ + อาจารฺย).”

: เป็นอาจารย์สอนตน

: ยากกว่าเป็นอาจารย์สอนคน

#บาลีวันละคำ (883)

18-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *