มณฑารพ (บาลีวันละคำ 1,616)
มณฑารพ
อ่านว่า มน-ทา-รบ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มณฑารพ : (คำนาม) ชื่อต้นไม้ในเมืองสวรรค์, มณฑา ก็ใช้. (ป. มณฺฑารว).
พจนานุกรมฯ บอกว่าคำนี้บาลีเป็น “มณฺฑารว” (อ่านว่า มัน-ดา-ระ-วะ)
ในคัมภีร์บาลีฉบับของไทย พบว่าศัพท์นี้สะกดเป็น “มณฺฑารว” (ณ เณร ฑ มณโฑ) ก็มี “มนฺทารว” (มัน-ทา-ระ-วะ) (น หนู ท ทหาร) ก็มี ใช้เป็น “มนฺทาร” (มัน-ทา-ระ) ก็มี
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรากศัพท์ของ “มนฺทาร” ว่ามาจาก มนฺทฺ (ธาตุ = ยินดี) + อาร ปัจจัย
: มนฺทฺ + อาร = มนฺทาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้เป็นเครื่องยินดีแห่งพวกเทวดา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “มนฺทาร” บอกไว้ว่า
“มนฺทาร : (คำนาม) ‘มันทาร, มนทาร์,’ ต้นไม้เมืองสวรรค์ต้นหนึ่งในจำนวนห้า; ประวาลพฤกษ์; one of the five trees of Svarga; the coral-tree.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีศัพท์ว่า mandārava คือ “มนฺทารว” (ถ้า “มณฺฑารว” อักษรโรมันจะเป็น maṇḍārava (มีจุดใต้ nd) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษไม่ได้เก็บรูปศัพท์ maṇḍārava ไว้) แปลไว้ว่า –
the coral tree, Erythrina fulgens (considered also as one of the 5 celestial trees). The blossoms mentioned D ii.137 fall from the next world. (ต้นทองหลาง, ต้นมณฑารพ [ถือด้วยว่าเป็นหนึ่งในบรรดาต้นไม้บนสวรรค์ 5 ชนิด] ดอกไม้ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทีฆนิกายว่าตกมาจากอากาศ)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
มณฑารพ : ดอกไม้ทิพย์ คือ ดอกไม้ในเมืองสวรรค์ที่ตกลงมาบูชาพระพุทธเจ้า ในวันปรินิพพาน ดาดาษทั่วเมืองกุสินารา และพระมหากัสสปได้เห็นอาชีวกคนหนึ่งถืออยู่ขณะเดินทางระหว่างเมืองกุสินารา กับเมืองปาวา จึงได้ถามข่าวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และทราบการปรินิพพานจากอาชีวกนั้น เมื่อ ๗ วันหลังพุทธปรินิพพาน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า “มณฑารพ” นี้ “มณฑา ก็ใช้”
ที่คำว่า “มณฑา” บอกไว้ว่า
“มณฑา : (คำนาม) ชื่อไม้พุ่มชนิด Talauma candollei Blume ในวงศ์ Magnoliaceae ใบใหญ่ ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอม; มณฑารพ.”
อภิปราย :
มีปัญหาว่า ดอก “มณฑารพ” ลักษณะเป็นอย่างไร?
“มณฑารพ” เท่าที่พบคำอธิบายในภาษาไทยล้วนแต่อธิบายเป็น “มณฑา” ทั้งนั้น แต่เมื่อตรวจดูในคัมภีร์ พบว่าคำอธิบายในคัมภีร์ไม่ตรงกับลักษณะของ “มณฑา” หรือ “มณฑารพ” ที่รู้กันในภาษาไทย
ขอเสนอหลักฐานดังต่อไปนี้
(๑) มณฺฑารวปุปฺผํ คเหตฺวาติ มหาปาติปฺปมาณํ ปุปฺผํ อาคนฺตุกทณฺฑเก ฐเปตฺวา ฉตฺตํ วิย คเหตฺวา ฯ (สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 336 อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร)
แปล : คำว่า มณฺฑารวปุปฺผํ คเหตฺวา (ถือดอกมณฑารพ) หมายถึง เอาไม้เสียบดอกมณฑารพขนาดถาดใหญ่ถือมาดังร่ม.
คำว่า “มหาปาติปฺปมาณํ” แปลว่า “ขนาดถาดใหญ่”
ศัพท์ว่า “ปาติ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า a bowl, vessel, dish (ถาด, ภาชนะ, ชาม) เป็นการยืนยันลักษณะของดอกมณฑารพว่าแผ่เป็นแผ่นแบนกลม
คำว่า “ฉตฺตํ วิย คเหตฺวา” แปลว่า ถือมาเหมือนร่ม ก็ชัดเจนว่าเมื่อเอาไม้เสียบที่กลางดอกแล้วยกขึ้น ดอกมณฑารพก็มีลักษณะเหมือนร่มนั่นเอง
(๒) ตทา โพธิสตฺโต สุสิโม นาม มหิทฺธิโก ตาปโส หุตฺวา เทวโลกโต มณฺฑารวปุปฺผจฺฉตฺตํ อาหริตฺวา สตฺถารํ ปูชยิ ฯ (อัฏฐสาลินี อรรถกถาคัมภีร์ธัมมสังคณี หน้า 103)
แปล : ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เป็นดาบสมีฤทธิ์มากนามว่า สุสิมะ ได้นำร่มดอกมณฑารพจากเทวโลกมาบูชาพระศาสดา.
“มณฺฑารวปุปฺผจฺฉตฺตํ” แปลว่า “ร่มดอกมณฑารพ” หมายความว่า ดอกมณฑารพนั่นเองมีลักษณะเป็นดังร่มอยู่ในตัว
(๓) ตานิ โหนฺติ สุวณฺณวณฺณานิ ปณฺณจฺฉตฺตปฺปมาณปตฺตานิ ฯ (สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 295 อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร)
แปล : ดอกมณฑารพเหล่านั้นมีสีดั่งทอง มีใบประมาณเท่าฉัตรใบไม้
ความข้อนี้นอกจากบอกสีของดอกมณฑารพว่ามีสีเหลืองแล้ว ยังบอกลักษณะของใบว่ามีขนาดเท่าร่มใบไม้
โปรดดูภาพดอกมณฑารพที่นำมาประกอบเรื่อง แล้วเปรียบเทียบกับข้อความในคัมภีร์ดังที่ยกมาเสนอ ก็จะเกิดคำถามว่า ดอกมณฑารพที่เรารู้กันในภาษาไทยเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกันกับที่กล่าวไว้ในคัมภีร์-แน่หรือ?
………….
ในคัมภีร์แสดงไว้ว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานนั้นได้เกิด “ปฐวีกัมปนาการ” กล่าวคือแผ่นดินไหวไปในหมื่นโลกธาตุ
ผู้หนักในศรัทธาพากันสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะความสะเทือนเลื่อนลั่นดังนี้เองเป็นเหตุให้ดอกมณฑารพร่วงหล่นโปรยปรายลงมาจากสวรรค์เป็นพุทธบูชา
………….
ดูก่อนภราดา!
อันว่าการดับขันธ์ของท่านผู้มีบุญบริสุทธิ์
: ไม่เพียงแต่โลกมนุษย์จะสะท้าน
: แม้โลกสวรรค์ก็ยังสะเทือน
———–
(ตามคำขอของท่านอาจารย์ Pa Ritta อดีตผู้ประกาศข่าววิทยุ BBC ภาคภาษาไทย-ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นแฟนทางอากาศในอดีตกาล)
6-11-59