บาลีวันละคำ

พิโรธวาทัง – หนึ่งในรสวรรณคดีไทย (บาลีวันละคำ 2432)

พิโรธวาทัง – หนึ่งในรสวรรณคดีไทย

รสวรรณคดีไทย ตามตำราท่านว่ามี 4 รส ตั้งชื่อคล้องจองกันว่า –

เสาวรจนี

นารีปราโมทย์

พิโรธวาทัง

สัลลาปังคพิสัย

…………..

คำว่า “พิโรธวาทัง” อาจมีปัญหาในการอ่านอยู่บ้าง กล่าวคือคนส่วนมากมักอ่านตามสะดวกปากว่า พิ-โรด-วา-ทัง แต่ว่าตามหลักการอ่านคำสมาสในภาษาไทย คำนี้ควรอ่านว่า พิ-โรด-ทะ-วา-ทัง เป็นการอ่านอย่างที่เรียกว่ามี “ลูกเก็บ” ช่วยให้เกิดความเพริศพริ้งในทางภาษา

พิโรธวาทัง” แยกศัพท์เป็น พิโรธ + วาทัง

(๑) “พิโรธ

เมื่อไม่มีคำมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พิ-โรด บาลีเป็น “วิโรธ” (วิ-โร-ทะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + รุธฺ (ธาตุ = ขัดเคือง) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ รุ-(ธฺ) เป็น โอ (รุธฺ > โรธ)

: วิ + รุธฺ = วิรุธฺ + = วิรุธณ > วิรุธ > วิโรธ แปลตามศัพท์ว่า “ความขัดเคืองพิเศษ” (คือขัดเคืองอย่างยิ่ง ถึงขั้นแสดงออกมาให้ปรากฏ) หมายถึง การขัดขวาง, การกีดขวาง, ความชัดแย้ง, ความเป็นปรปักษ์ (obstruction, hindrance, opposition, enmity)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิโรธ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิโรธ : (คำนาม) ‘วิโรธ, พิโรธ,’ ศัตรุตา, ความเปนศัตรู, ทุษฏภาพ, ความแค้นเคือง, สงคราม; ความวิบัท; enmity, ill-will, or animosity; war; calamity.”

บาลี “วิโรธ” ในภาษาไทยแผลง เป็น ตามหลักนิยม ใช้เป็น “พิโรธ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พิโรธ : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) โกรธ, เคือง, ใช้ว่า ทรงพระพิโรธ. (ป., ส. วิโรธ ว่า การขัดขวาง).”

(๒) “วาทัง

เขียนแบบบาลีเป็น “วาทํ” (วา-ทัง) รูปคำเดิมเป็น “วาท” (วา-ทะ) รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาทฺ)

: วทฺ + = วทณ > วท > วาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด

คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ:

(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)

(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)

(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)

(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วาท, วาท– : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา; ลัทธิ, ความเห็น. (ป., ส.).”

วิโรธ + วาท = วิโรธวาท (วิ-โร-ทะ-วา-ทะ) > พิโรธวาท แปลว่า “ถ้อยคำที่แสดงความโกรธ

ในที่นี้ เนื่องจากต้องการให้ส่งสัมผัสไปยังคำต่อไปคือ “สัลลาปังคพิสัย” ท่านจึงแปลง “พิโรธวาท” เป็น “พิโรธวาทัง” (-ทัง สัมผัสกับ –ปัง-) ทำนองเดียวที่แปลง “เสาวรจนา” เป็น “เสาวรจนี” นั่นเอง

ในทางวรรณคดีไทย คำประพันธ์ที่มีลักษณะเป็น “พิโรธวาทัง” หมายถึงคำประพันธ์ที่แสดงออกถึงอารมณ์ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด รวมไปถึงตัดพ้อต่อว่า กระแหนะกระแหนแดกดัน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เรียกรวมๆ ว่า “บทโกรธ”

ข้อสังเกต :

ทำไม “พิโรธวาทัง” จึงถือว่าเป็น “รส” ชนิดหนึ่งของวรรณคดี?

อธิบายสั้นๆ ด้วยอุปมาอาจช่วยให้เข้าใจได้ง่าย

คนทะเลาะกันเรียกร้องความสนใจได้ดีกว่าคนที่คุยกันกะหนุงกะหนิง-ฉันใด

“บทโกรธ” ก็สร้างอารมณ์ตื่นเต้นให้ผู้เสพวรรณคดีได้ดีนัก-ฉันนั้น

…………..

เนื่องจากวรรณคดีเป็นศิลปะที่แสดงออกทางถ้อยคำวาจา ดังคำว่า “พิโรธวาทัง” นี้เองก็บ่งชี้เฉพาะว่าเป็นอารมณ์โกรธที่แสดงออกทางวาจา

แต่ในทางหลักธรรม ตัวชี้วัดตัดสินว่าโกรธหรือไม่โกรธคือจิตเจตนา ความโกรธอาจแสดงออกทางวาจาได้ แต่การแสดงออกทางวาจาไม่อาจใช้ตัดสินว่าโกรธได้เสมอไป เพราะอาจเป็นอย่างคำที่ว่า “ปากร้ายใจดี” ก็ได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมองเฉพาะ “พิโรธวาทังถ้อยคำที่แสดงความโกรธ” จึงอาจพบความจริง 2 อย่าง ซึ่งอาจเรียกว่า “โกรธเทียม” กับ “โกรธแท้

โกรธเทียม” คือโกรธแต่ปาก หากแต่ใจไม่ได้โกรธไปด้วย อาจเป็นเพราะหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นผลทางการปกครองเพื่อให้ลูกน้องเกรงกลัวเป็นต้น

โกรธแท้” คือเกิดจากโทสจิต (โท-สะ-จิด) เผาลนใจให้เดือดพล่าน ล้นทะลักออกมาทางกิริยาวาจา

โกรธเทียม” เดือดร้อนเฉพาะผู้ที่ถูกโกรธ แต่ “โกรธแท้” เดือดร้อนที่ตัวผู้โกรธก่อนแล้วแผ่ความร้อนออกมาลวกผู้อื่นให้ร้อนไปด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

พึงทราบเถิดว่า —

: สิ่งที่ทำให้เราน่าโกรธ

: ก็คือสิ่งที่ทำให้เราน่าเกลียด

————–

(ได้แรงบันดาลใจจากโพสต์ของ Charanya Deeboonmee Na Chumphae)

#บาลีวันละคำ (2,432) 8-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *