สัลลาปังคพิสัย – หนึ่งในรสวรรณคดีไทย (บาลีวันละคำ 2433)
สัลลาปังคพิสัย – หนึ่งในรสวรรณคดีไทย
รสวรรณคดีไทย ตามตำราท่านว่ามี 4 รส ตั้งชื่อคล้องจองกันว่า –
เสาวรจนี
นารีปราโมทย์
พิโรธวาทัง
สัลลาปังคพิสัย
…………..
“สัลลาปังคพิสัย” อ่านว่า สัน-ลา-ปัง-คะ-พิ-ไส แยกศัพท์เท่าที่ตาเห็นเป็น สัลลาป + อังค + พิสัย
(๑) “สัลลาป”
เขียนแบบบาลีเป็น “สลฺลาป” อ่านว่า สัน-ลา-ปะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ลปฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ลฺ (สํ > สลฺ), ทีฆะ อะ ต้นธาตุ คือ อะ ที่ ล-(ปฺ) เป็น อา (ลปฺ > ลาป)
: สํ + ลปฺ = สํลปฺ + อ = สํลป > สลฺลป > สลฺลาป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การพูดร่วมกัน” หมายถึง การสนทนา, การพูดคุยกัน (conversation)
(๒) “อังค”
เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” (อัง-คะ) รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)
“องฺค” ใช้ในภาษาไทยว่า “องค์” (อง) กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายใช้ว่า “องค-” (อง-คะ-) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, (ราชาศัพท์) ตัว (ใช้แก่หม่อมเจ้า) เช่น รู้สึกองค์ แต่งองค์.
(2) ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘.
(3) ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะ สิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระสุพรรณภาชน์ ๑ องค์ พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คำ) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์.
(4) ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ภาษาปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุ ๑ องค์.
(๓) “พิสัย”
บาลีเป็น “วิสย” (วิ-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา; ผูก, พัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)
: วิ + สิ = วิสิ + ณ = วิสิณ > วิสิ > วิเส > วิสย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูมิภาคเป็นที่เสพอาศัย” (2) “ภาวะที่ผูกอินทรีย์ไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิสย” ไว้ดังนี้ –
(1) locality, spot, region; world, realm, province, neighbourhood (ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ)
(2) reach, sphere [of the senses], range, scope; object, characteristic, attribute (ขอบเขต, โลก [ของความรู้สึก], แนว, วง; วิสัย, ลักษณะ, คุณสมบัติ)
จับความหมายของ “วิสย > วิสัย” สั้น ๆ ว่า –
(1) ขอบเขต
(2) สิ่งที่จิตไปรับรู้เกาะเกี่ยว = อารมณ์
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสย-, วิสัย : (คำนาม) ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้; ขอบ, เขต, เช่น คามวิสัย โคจรวิสัย อยู่ในทัศนวิสัย. (ป.).”
การประสมคำ :
(๑) สลฺลาป + องฺค = สลฺลาปงฺค (สัน-ลา-ปัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งการสนทนา” หมายถึง หัวข้อหรือเรื่องที่ยกขึ้นมาพูดกัน
(๒) สลฺลาปงฺค + วิสย = สลฺลาปงฺควิสย (สัน-ลา-ปัง-คะ-วิ-สะ-ยะ) แปลว่า “ขอบเขตแห่งเรื่องที่สนทนากัน”
อภิปราย :
ข้างต้นบอกไว้ว่าเป็นการแยกศัพท์เท่าที่ตาเห็น เนื่องจากคำว่า “สัลลาปังคพิสัย” ในทางวรรณคดีไทยหมายถึงคำประพันธ์ที่แสดงถึงความเศร้าโศกเสียใจ คร่ำครวญรำพันถึงความทุกข์ยากคับแค้นต่างๆ หรือที่เรียกว่า “บทโศก”
แต่เมื่อแปลความหมายของคำตามที่แยกไว้ได้ความว่า “ขอบเขตแห่งเรื่องที่สนทนากัน” จะเห็นได้ว่าห่างไกลจากความหมายที่ประสงค์
ดังนั้น จึงควรที่จะลองแยกศัพท์ตามจินตนาการดู
“แยกศัพท์ตามจินตนาการ” หมายถึงพยายามหาศัพท์มารองรับความหมายที่ต้องการ หรืออีกนัยหนึ่งคือลากคำเข้าหาความ ดังที่จะลองแยกดูดังนี้ –
คำว่า “สัลลาปังคพิสัย” มีรูปคำ “สัลล” ที่ตรงกับบาลีว่า “สลฺล” (สัน-ละ) ตามศัพท์หมายถึง ลูกศร หรือสิ่งที่เสียดแทงให้ได้รับความทุกข์เจ็บปวด
เมื่อแยก “สัลล” ออกมาแล้ว คำที่เหลือก็ต้องเป็น “อาปังค” ซึ่งถ้าหาเรื่องแยกต่อไปอีกก็จะได้คำว่า อาป + องฺค
“อาป” แปลว่า น้ำ “องฺค” ก็ องค์ ตามที่เข้าใจกัน “อาปงฺค – อาปังค” แปลว่า “องค์แห่งน้ำ” ความหมายออกจะห่างไกลไปจากเป้าหมาย จึงน่าจะไม่ใช่คำนี้
นอกจากจะแปล “อาป” แบบลากเข้าความเอาดื้อๆ ว่า หมายถึง “น้ำตา” แล้วหาเหตุผลมาสนับสนุนแบบลากเข้าความเช่นเดียวกันว่า ในภาษาไทยมีคำที่พูดกันว่า “ร้องไห้น้ำตาเป็นสายเลือด” หรือ “ร้องไห้น้ำตาเป็นสายน้ำ” ถ้าเช่นนั้น หากแปล “สัลลาปังคพิสัย” ว่า หมายถึง “เรื่องที่ทำให้หลั่งน้ำตาปานว่าสายน้ำอันเนื่องจากถูกลูกศรคือความทุกข์โศกเสียดแทงให้ได้รับความทุกข์แสนสาหัส” ดังนี้ ก็คงพอจะ “กะล่อมกะแล่ม” ไปได้กระมัง
อย่างไรก็ตาม “สลฺลาป” ที่แปลตามศัพท์ว่า “การพูดร่วมกัน” อาจตีความให้หมายถึง “การปรับทุกข์กัน” ก็ได้ ถ้าเป็นเช่นว่านี้ “สลฺลาปงฺควิสย – สัลลาปังคพิสัย” ก็อาจแปลตามศัพท์ที่แยกไว้ให้ได้ความตามที่ประสงค์ได้ว่า
“สัลลาป” = การปรับทุกข์กัน
“อังค” = หัวข้อเรื่อง
“พิสัย” = ธรรมดาสามัญของมนุษย์
“สัลลาปังคพิสัย” = “เรื่องปรับทุกข์ปรับโศกกันตามประสาสัตว์”
“สัลลาปังคพิสัย” เป็นคำที่เข้าลักษณะวิสามานยนาม หรือชื่อเฉพาะ (proper name) ผู้ที่จะอธิบายที่มาของคำได้ถูกต้องที่สุดก็คือท่านผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมา
ท่านผู้ใดทราบที่มาที่แน่นอนของคำ หรือพบคำอธิบายของท่านผู้คิดคำนี้มีบอกไว้ที่ไหน ขอความกรุณานำมาเสนอสู่กันฟังเป็นวิทยาทานด้วยเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เราหลบหลีกไม่ให้ทุกข์มากระทบไม่ได้
: แต่สามารถฝึกใจไม่ให้กระเทือนได้
————–
(ได้แรงบันดาลใจจากโพสต์ของ Charanya Deeboonmee Na Chumphae)
#บาลีวันละคำ (2,433)
9-2-62