อริยสงฆ์ (บาลีวันละคำ 885)
อริยสงฆ์
(หรือพระอริยะ)
(๑) “อริย” อ่านว่า อะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง อ ที่ ร และ ห เป็น อิย
: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”
(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม
: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > ย = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล”
(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส”
(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง”
(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: อริย + ณ = อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ”
สรุปว่า “อริย” แปลว่า –
(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส
(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล
(3) ผู้ไกลจากกิเลส
(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้
(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ
(๒) “สงฆ์” บาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ
“สงฺฆ” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง, แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” (2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน”
(ดูเพิ่มเติมที่ “สงฆ์” บาลีวันละคำ (884) 19-10-57)
“สงฺฆ” ตามศัพท์หมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
ในที่นี้ “สงฺฆ – สงฆ์” หมายถึง พระสงฆ์หรือภิกษุ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สงฆ์ : (คำนาม) ภิกษุ เช่น ของสงฆ์ พิธีสงฆ์, บางทีก็ใช้ควบกับคํา พระ หรือ ภิกษุ เป็น พระสงฆ์ หรือ ภิกษุสงฆ์ เช่น นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ มีภิกษุสงฆ์มารับบิณฑบาตมาก, ลักษณนามว่า รูป หรือ องค์ เช่น ภิกษุสงฆ์ ๒ รูป พระสงฆ์ ๔ องค์.”
อริย + สงฺฆ = อริยสงฺฆ > อริยสงฆ์ แปลตามประสงค์ว่า “ภิกษุผู้เป็นพระอริยะ”
คำว่า “อริยสงฆ์” :
(1) หมายถึง “สาวกสงฆ์” คือหมู่สาวกของพระพุทธเจ้าที่บรรลุธรรม 8 ระดับ คือระดับโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล หรือนับตัวบุคคลก็มี 4 คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์
ผู้บรรลุธรรมดังกล่าวนี้อาจเป็นบรรพชิตหรือเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ ย่อมได้รับสิทธิ์เป็น “อริยสงฆ์” โดยอัตโนมัติ
อริยสงฆ์ในความหมายนี้ก็คือที่ตรงกันข้ามหรือคู่กับ “สมมติสงฆ์” คือหมู่ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชน
(2) หมายถึง “ภิกษุผู้เป็นอริยบุคคล” คือผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังที่เรียกกันว่า “อริยสงฆ์” หรือ “พระอริยะ”
คำว่า “-สงฆ์” ในความหมายนี้หมายถึง “ภิกษุ” แต่ละรูปแต่ละองค์
ใครจะรับรองว่าใครเป็นอริยสงฆ์ :
สมัยพุทธกาล คือเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อมีใครเอ่ยอ้างว่าใคร (หรือแม้ตัวเอง) ได้บรรลุธรรมเป็นอริยสงฆ์ พระพุทธเจ้าจะทรงเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้นั้นเป็นอริยสงฆ์คือได้บรรลุธรรมจริงหรือไม่
การอ้างว่าได้บรรลุธรรมดังกล่าวนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและระมัดระวังกันมาก แม้แต่คำพูดว่า “ข้าพเจ้าหมดความกังวลแล้ว” หรือ “ข้าพเจ้ารู้สึกสงบสุขอย่างยิ่ง” เพียงแค่นี้ก็จะถูกตีความว่า “อวดอ้างเป็นอริยสงฆ์” ทันที
หลักที่รับรองกันก็คือ การจะรู้ว่าใครเป็นอริยสงฆ์ระดับไหน ผู้นั้นจะต้องบรรลุธรรมในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเท่านั้นจึงจะรู้ได้
ปัจจุบันมีผู้เรียกขานพระภิกษุที่ตนเคารพนับถือว่า “อริยสงฆ์” กันดกดื่น
เมื่อว่าตามหลักนี้ ผู้เรียกขานว่าใครเป็นอริยสงฆ์ ก็เท่ากับประกาศว่าตนเองก็เป็นอริยสงฆ์ด้วยนั่นเอง
: ยกย่องถูกวิธี คือให้คุณความดีประกาศตัวเอง
เพราะ –
: ยกย่องไม่ถูกทาง จะกลายเป็นอวดอ้างไม่ถูกธรรม
#บาลีวันละคำ (885)
20-10-57