บาลีวันละคำ

ทุกฺโขติณฺณา [2] (บาลีวันละคำ 2429)

ทุกฺโขติณฺณา [2]

ภาษาไทยในบทเพลง

ทุกโขติณณา” แปลตามศัพท์ว่า “ถูกความทุกข์ข้ามลงแล้ว

ในบทสวดมนต์แปล แปลคำนี้ว่า “เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทุกฺโขติณฺณา” ว่า fallen into misery (ถูกทุกข์ท่วมทับหรือครอบงํา)

ดูเพิ่มเติม: “ทุกฺโขติณฺณา [1] ” บาลีวันละคำ (2,427) 3-2-62

คำว่า “ทุกโขติณณา” เป็นคำบาลีที่ผู้แต่งเพลงนำไปใส่เป็นคำร้องตอนหนึ่งในบทเพลงที่ชื่อ “ปล่อย

เนื้อเพลงมีดังนี้

——-

ใครจะชิงใครจะชัง มันก็ช่างหัวเขา

แค่ตัวเรารู้เรา ช่าง “เค้า” ประไร

ใครจะชักใครจะแช่ง ใครจะแกล้งใครจะหยัน

ก็ให้ช่างหัวมัน ก็ให้ปล่อย“เค้า” ไป

ใครจะชมใครจะเชิด ว่าประเสริฐเลิศหรู

ตัวเรารู้เราอยู่ ปล่อย“เค้า” ชมไป

ใครจะรักใครจะเกลียด ใครจะเสียดใครจะสี

ก็เรารู้ตัวดี ปล่อย“เค้า” ทำไป..

เกิดเป็นมนุษย์ สิ้นสุดแค่ตาย

เอาอะไรมากมาย ในความอนัตตา

โลภไปทำไม ช่วงชิงแข่งขัน

สุดท้ายเหมือนกัน ต้องไปป่าช้า

จะเอาอะไร แค่รักโลภโกรธหลง

ไม่มีความมั่นคง บนกิเลสตัณหา

เกิดแก่เจ็บตาย “ใย” จะไปยึดมั่น

สรรพสังขาร ล้วนอนิจจา

ปล่อยวางมันเสีย

ทุกโขติณณา…

…………

…………

ใครจะเมินใครจะมอง “ใย” จะต้องไหวหวั่น

ใครจะใส่ร้ายกัน “ใย” จะต้องสนใจ

ใครจะดีใครจะเลว มันก็เรื่องของเขา

ใครจะนินทาเรา “ใย” จะต้องทุกข์ใจ

ใครจะล้อใครจะด่า “ใย” จะต้องว่าตอบ

ใครไม่สนใครไม่ชอบ “ใย” จะต้องใส่ใจ

ใครจะคิดใส่ความ “ใย” จะต้องวุ่นจิต

หากตัวเราไม่ผิด จะไปคิดทำไม

เกิดเป็นมนุษย์ สิ้นสุดแค่ตาย

ประดุจดังท่อนไม้ ล้มทับโลกา

หมดลมเมื่อไร หาประโยชน์ใดเล่า

ล้วนต้องถูกเผา หามไปป่าช้า

ชีวิตยังมี สร้างความดีไว้เถิด

ได้ไม่เสียชาติเกิด ได้ไม่ต้องอายหมา

อันว่าความตาย คือสัจธรรมของเที่ยง

สิ้นสรรพสำเนียง เน่าเหม็นขึ้นมา

จะเอาอะไร…

จะเอาอะไรกันนักหนา…

…………..

อภิปราย :

เนื้อเพลงนี้ ตามที่อ่านพบในที่ทั่วไปและตามที่อ่านได้ในสื่อแสดงภาพเคลื่อนไหว ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า มีคำที่สะกดผิด 2 คำ คือ

(1) คำว่า “เค้า” พบ 4 แห่ง คำที่ถูกต้องควรเป็น “เขา” อันเป็นคำสรรพนาม

(2 ) คำว่า “ใย” (สระใอ ไม้ม้วน) พบ 7 แห่ง คำที่ถูกต้องควรเป็น “ไย” (สระไอ ไม้มลาย)

ในเนื้อเพลงข้างต้น ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตเขียนคำว่า “เค้า” และ “ใย” อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศ (เครื่องหมายคำพูด) เพื่อให้เป็นที่สังเกต

หาความรู้จากพจนานุกรม :

คำว่า “เขาเค้า” “ไย” “ใย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) เขา ๔ : (คำสรรพนาม) คําใช้แทนผู้ที่เราพูดถึง, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓.

(2) เค้า ๑ : (คำนาม) สิ่งที่เป็นเครื่องกําหนดหมายบอกให้รู้ เช่น ฝนตั้งเค้า; สิ่งที่ส่อแสดงให้รู้ได้ว่ามีลักษณะเหมือนสิ่งอื่น เช่น นาย ก มีเค้าหน้าเหมือนนาย ข; ต้นเงื่อน เช่น ต้นเค้า; รูปหรือรูปความโดยย่อ เช่น เขียนพอให้เห็นเป็นเค้า; ร่องรอย เช่น พอได้เค้า; เหง้า เช่น โคตรเค้าเหล่ากอ; ข้า. (อนันตวิภาค); ตัวเงินหรือวัตถุที่ใช้แทนตัวเงิน เช่นเมล็ดมะขามเป็นต้นที่เป็นทุนซึ่งตั้งไว้สําหรับเล่นในบ่อนการพนันบางชนิด, เรียกผู้ถือต้นทุนในการพนันว่า ถุงเค้า.

เค้า ๒ เป็นชื่อนก

เค้า ๓ เป็นชื่อปลา

สรรพนาม “คําใช้แทนผู้ที่เราพูดถึง” คือคำว่า “เขา” ไม่ใช่ “เค้า

ไม่มีคำว่า “เค้า” ที่หมายถึง “คําใช้แทนผู้ที่เราพูดถึง

(3) ไย : (คำวิเศษณ์) ไฉน, อะไร, ทําไม, เช่น จะช้าอยู่ไย ไยจึงไม่มา.

(4) ใย : (คำนาม) สิ่งที่เป็นเส้นเล็ก ๆ บาง ๆ เช่น ใยบัว ใยแมงมุม. (คำวิเศษณ์) นวลบาง, บาง ๆ, ละเอียดอ่อน เช่น นวลใย.

เฉพาะคำว่า “เค้า” ผู้เขียนเนื้อเพลงรวมทั้งบางคนอาจให้เหตุผลว่า “เขียนตามเสียงพูดหรือเสียงร้องเพื่อให้เกิดอรรถรส” เทียบตัวอย่างเช่นคำว่า “ฉัน” เขียนเป็น “ชั้น” “ไหม” เขียนเป็น “มั้ย” เพราะออกเสียงเช่นนี้

ว่ากันตามจริงแล้ว เหตุผลเช่นว่านี้ไม่จำเป็นเลย เขียนว่า “เขา” จะออกเสียงเป็น “เค้า” ก็สามารถออกได้ เขียนเป็น “ฉัน” ก็สามารถออกเสียงเป็น “ชั้น” ได้ ตามอารมณ์หรืออรรถรสของเหตุการณ์ ไม่จำเป็นต้องแปลงรูปสะกดการันต์ให้ผิดเพี้ยนไปจากคำที่ถูกต้องแต่ประการใดเลย

ขอเสนอข้อเทียบเคียงเพื่อประกอบการพิจารณา

มีคำบอกเป็นเสียงว่า “พา-สา-ไท”

ถ้าให้เขียนตามคำบอกนี้ ทุกคนก็จะเขียนว่า “ภาษาไทย”

ภา– ทำไมจึงใช้ ภ สำเภา ไม่ใช่ พ พาน –ษา ทำไมจึงใช้ ษ ฤษี ไม่ใช่ ส เสือ หรือ ศ ศาลา?

ก็เพราะกฎเกณฑ์ทางภาษากำหนดไว้เช่นนั้น

คำว่า “เขา” “เค้า” “ไย” “ใย” ก็ต้องใช้กฎเกณฑ์ทางภาษาเช่นเดียวกันนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศิลปะที่ดีงาม-ศิลปะที่ไม่ตาย

: ไม่จำเป็นต้องทำลายความถูกต้อง

#บาลีวันละคำ (2,429)

5-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *