บาลีวันละคำ

ผ้าจำนำพรรษา [1] (บาลีวันละคำ 887)

ผ้าจำนำพรรษา [1]

ประกอบด้วยคำว่า ผ้า + จำนำ + พรรษา

พรรษา” บาลีเป็น “วสฺส” อ่านว่า วัด-สะ สันสกฤตเป็น “วรฺษ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พรรษา” อ่านว่า พัน-สา

วสฺสพรรษา” แปลตามศัพท์ว่า

(1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” = ฝน

(2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” = ฤดูฝน

(3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน” = ปี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

(1) “จำนำ” แผลงมาจาก “จํา

: จำนำ + พรรษา = จำนำพรรษา < จำพรรษา

(2) พรรษา : ช่วงระยะเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน เช่น เข้าพรรษา จําพรรษา; ปี เช่น บวช ๓ พรรษา, มีพระชนมายุ ๒๕ พรรษา.

(3) จำพรรษา : อยู่ประจําที่วัด ๓ เดือนในฤดูฝน (ใช้แก่พระสงฆ์).

(4) จํานําพรรษา : เรียกผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จําพรรษาในวัดนั้น ๆ ว่า ผ้าจํานําพรรษา

ผ้าจำนำพรรษาคือผ้าอะไร ?

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

(1) ผ้าจำนำพรรษา คือผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบสามเดือนแล้วในวัดนั้น ภายในเขตจีวรกาล

(2) “เขตจีวรกาล” หมายถึงกำหนดระยะเวลาถวายจีวร; งวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่มิได้กรานกฐิน ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน 11 ถึงเพ็ญเดือนสิบสอง (คือเดือนเดียว), อีกงวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่ได้กรานกฐินแล้ว ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน 11 ไปจนหมดฤดูหนาว คือถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 (รวม 5 เดือน)

(3) กำหนดเวลาปกติสำหรับถวายผ้าจำนำพรรษา ก็คือภายในจีวรกาล ตามข้อ (2) นั่นเอง

เพราะฉะนั้น “ผ้าจํานําพรรษา” ก็คือผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระท่านผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเก่าที่ใช้มาตลอดพรรษา ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์เดียวกับการถวายผ้ากฐินนั่นเอง

ข้อควรทราบเกี่ยวผ้าจำนำพรรษา :

(1) ผ้าจำนำพรรษา ถ้าทายกถวายเป็นส่วนตัวแก่ภิกษุ (เป็น “ปาฏิบุคลิกทาน”) ย่อมเป็นสิทธิ์ของภิกษุผู้รับที่จะใช้ผลัดเปลี่ยนจีวรได้ทันที มีผลเหมือนกับได้รับกฐินเป็นการส่วนตัว คือได้ผลัดเปลี่ยนจีวรสำเร็จเรียบร้อย

(2) ถ้าทายกระบุว่า “ถวายแก่สงฆ์” (คือเป็น “สังฆทาน”) ภิกษุผู้รับต้องนำผ้านั้นไปเข้าที่ประชุมสงฆ์ คือภิกษุอย่างน้อย 4 รูป (นับรวมทั้งภิกษุรูปที่เป็นผู้รับผ้าไว้) เพื่อขออนุมัติแบ่งผ้ากัน (ถ้ามีหลายผืน) หรือถ้ามีผืนเดียวก็อนุมัติให้แก่ภิกษุผู้รับผ้าไว้

การกระทำเช่นนี้มีผลเหมือนกับภิกษุผู้เข้าร่วมประชุมได้รับกฐินเช่นกัน

(3) แต่ถ้าในวัดนั้นมีภิกษุไม่ครบองค์สงฆ์  สามารถไปแสวงหาภิกษุให้ครบองค์สงฆ์ได้ หรือที่อาจพูดให้เข้าใจว่า “ไปนิมนต์พระจากวัดอื่นมาให้ครบองค์สงฆ์ได้” (กรณีนี้คืออย่างน้อย 4 รูป) เมื่อสงฆ์อนุมัติแล้ว ก็มีผลเหมือนภิกษุผู้รับผ้าไว้ได้รับกฐินแล้วเช่นกัน

(4) ผ้าจำนำพรรษาที่ถวายแก่สงฆ์เช่นที่กล่าวนี้บางท่านเข้าใจว่าเป็น “ผ้ากฐิน” อันเป็นที่มาแห่งความเข้าใจว่า ทอดกฐินถ้ามีพระไม่ครบก็สามารถไปนิมนต์จากที่อื่นมาให้ครบได้

(5) แต่โปรดสังเกตว่า “องค์สงฆ์” ที่อนุมัติผ้าจำนำพรรษามีเพียง 4 รูป รวมทั้งภิกษุรูปที่เป็นผู้รับผ้าไว้ด้วยก็ใช้ได้ ในขณะที่ผ้ากฐินต้องมีภิกษุอย่างน้อย 5 รูป คือเป็นองค์สงฆ์อย่างน้อย 4 รูป และไม่นับรวมภิกษุรูปที่เป็นองค์ครองกฐิน

(6) ผ้าจำนำพรรษา เป็นผ้าที่คนไทยแทบจะไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินว่ามีใครถวาย ทั้งๆ ที่ถ้าถวายให้เป็นสังฆทานก็จะมีผลเท่ากับถวายผ้ากฐินนั่นเอง ทั้งสามารถแก้ปัญหาวัดที่มีพระไม่ถึง 5 รูปให้ได้รับอานิสงส์กฐินได้อย่างไม่มีปัญหาให้ต้องถกเถียงกัน

ขอเชิญผู้รู้ได้กรุณาตรวจสอบความที่กล่าวมานี้ หากเห็นว่าคลาดเคลื่อนโปรดทักท้วงเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

: ถ้าตั้งเจตนาถวายเป็นของสงฆ์ จะเรียกชื่ออะไรก็เป็น “สังฆทาน” ทั้งนั้น

: แกงอร่อย ไม่จำเป็นต้องใส่ชามทอง

#บาลีวันละคำ (887)

22-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *