คณปูรกะ (บาลีวันละคำ 888)
คณปูรกะ
“ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก”
อ่านว่า คะ-นะ-ปู-ระ-กะ
บาลีเป็น “คณปูรก”
ประกอบด้วยคำว่า คณ + ปูรก
“คณ” (คะ-นะ) รากศัพท์มาจาก คณ (ธาตุ = นับ) + อ ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน” หมายถึง กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster) (ดูเพิ่มเติมที่ “คณะ” บาลีวันละคำ (882) 17-10-57)
ในที่นี้ “คณ” หมายถึง “กลุ่มคน” ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้นัยหนึ่งว่า : หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่); กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.
“ปูรก” (ปู-ระ-กะ) รากศัพท์มาจาก ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: ปูรฺ + ณฺวุ > อก = ปูรก แปลว่า “ผู้ทำให้เต็ม”
คณ + ปูรก = คณปูรก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำคณะให้เต็ม”
“คณปูรก” เขียนแบบไทยเป็น “คณปูรกะ” มีความหมาย 2 นัย คือ –
(1) เมื่อมีการประชุมสมาชิกของกลุ่มเพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งและได้กำหนดจำนวนอย่างต่ำของสมาชิกผู้เข้าประชุมไว้ เมื่อมีสมาชิกเข้าประชุมครบตามจำนวนที่กำหนดจึงจะถือว่าเป็น “องค์ประชุม” ที่สามารถทำกิจนั้นๆ ได้
“องค์ประชุม” นี้ศัพท์ในทางพระศาสนาเรียกว่า “องค์สงฆ์” หรือ “วรรค” เช่น –
“จตุรวรรค” กำหนดให้ต้องมีภิกษุอย่างต่ำ 4 รูปประชุมกันจึงจะเป็นองค์สงฆ์ เช่นในการอปโลกน์ (อปโลกนกรรม = ประกาศแจ้งเรื่องให้ทราบ)
“ปัญจวรรค” กำหนดให้ต้องมีภิกษุอย่างต่ำ 5 รูปประชุมกันจึงจะเป็นองค์สงฆ์ เช่นในการรับกฐิน
“ทศวรรค” กำหนดให้ต้องมีภิกษุอย่างต่ำ 10 รูปประชุมกันจึงจะเป็นองค์สงฆ์ เช่นในพิธีอุปสมบทในถิ่นที่หาภิกษุได้ง่าย
จำนวนสมาชิกที่เข้าประชุมดังกล่าวนี้แหละคือ คณปูรกะ = “ผู้ทำคณะให้เต็ม” หรือผู้ทำให้ครบจำนวน (one who completes the quorum)
(2) หมายถึงผู้ที่อยู่ในสังคมหมู่คณะ แต่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้ คือเกิดมาหรืออยู่มาพอให้เต็มบ้านเต็มเมืองหรือเต็มโลกเท่านั้น คล้ายกับสำนวนที่พูดกันว่าเป็น “ไม้ประดับ” หรือสำนวนพระว่าอยู่วัดเป็น “พระอันดับ” ไม่มีบทบาทหรือมีความหมายอะไร
คณปูรกะ ในบางแง่ จะว่าสำคัญก็ไม่ใช่ เพราะดูเหมือนไม่ได้ทำอะไร ได้แต่นั่งเฉยๆ แต่จะว่าไม่สำคัญก็ไม่เชิง เพราะถ้ามีไม่ครบก็ทำงานที่กำหนดไว้ไม่ได้ เป็นอย่างที่ว่า “มีฉัน เธอว่าไม่สำคัญ แต่ถ้าขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก”
ของ : ค่าอยู่ที่มี ดีอยู่ที่ใช้
คน : ต้องใช้จึงจะพิสูจน์ดี แค่มีไม่อาจพิสูจน์ค่า
#บาลีวันละคำ (888)
23-10-57