ปฏิรูปะ – ปฏิรูปกะ (บาลีวันละคำ 2428)
ปฏิรูปะ – ปฏิรูปกะ
ทบทวนความรู้กันหน่อย
ทั้ง 2 คำนี้เขียนแบบคำอ่าน คือเขียนเพื่อให้อ่านว่า ปะ-ติ-รู-ปะ และ ปะ-ติ-รู-ปะ-กะ
ถ้าเขียนแบบบาลีต้องเขียนเป็น –
“ปฏิรูป” อ่านว่า ปะ-ติ-รู-ปะ
“ปฏิรูปก” อ่านว่า ปะ-ติ-รู-ปะ-กะ
คำหลักใน 2 คำนี้คือ “ปฏิ” และ “รูป”
(๑) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :
“ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)
(๒) “รูป”
บาลีอ่านว่า รู-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รูปฺ (ธาตุ = ประกาศ) + อ ปัจจัย
: รูปฺ + อ = รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศสภาพของตน”
(2) รุปฺ (ธาตุ = เสื่อม, ทรุดโทรม) + อ ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ รุ-(ปฺ) เป็น อู (รุปฺ > รูป)
: รุปฺ + อ = รุป > รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ต้องเสื่อมไป”
“รูป” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง รูป, ทรวดทรง, รูปร่างหรือรูปพรรณสัณฐาน, หลักการเกี่ยวกับรูป ฯลฯ (form, figure, appearance, principle of form, etc.)
ปฏิ + รูป = ปฏิรูป (ปะ-ติ-รู-ปะ) แปลตามศัพท์ว่า “รูปเฉพาะ”
เมื่อประสมกันเป็น “ปฏิรูป” เช่นนี้ ก็เกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมา “ปฏิรูป” ในบาลีใช้ในความหมายว่า พอเหมาะ, สมควร, เหมาะสม, เหมาะเจาะ, เป็นไปได้ (fit, proper, suitable, befitting, seeming)
ส่วน “ปฏิรูปก” (ปะ-ติ-รู-ปะ-กะ) ก็คือ ปฏิรูป + ก = ปฏิรูปก
“ก” (อ่านว่า กะ) ที่มาต่อท้ายนี้ อาจเป็น “ก-สกรรถ” (สะ-สะ-กัด) หรือ “ก” ปัจจัยก็ได้ และเมื่อมี “ก” มาต่อท้ายเป็น “ปฏิรูปก” ความหมายก็ต่างไปจาก “ปฏิรูป”
“ปฏิรูปก” ในบาลีมีความหมายว่า เหมือน, คล้าย, ซึ่งปลอมเป็น, ในรูปร่างของ, มีรูปร่างเหมือน (like, resembling, disguised as, in the appearance of, having the form of)
ความหมายของ “ปฏิรูปก” ที่นักเรียนบาลีนิยมใช้มากที่สุดคือ “เทียม” หมายถึงของเทียมๆ ไม่ใช่ของจริง
ในภาษาไทย เราเอาคำว่า “ปฏิรูป” มาใช้ และอ่านว่า ปะ-ติ-รูบ (บาลีอ่าน ปะ-ติ-รู-ปะ) แต่ไม่ได้เอาคำว่า “ปฏิรูปก” มาใช้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิรูป, ปฏิรูป– : (คำวิเศษณ์) สมควร, เหมาะสม, เช่น ปฏิรูปเทส คือ ถิ่นที่สมควร หรือ ถิ่นที่เหมาะสม; เทียม, ไม่แท้, เช่น มิตรปฏิรูป. (คำกริยา) ปรับปรุงให้สมควร เช่น ปฏิรูปบ้านเมือง. (ป.).”
แยกความหมายของ “ปฏิรูป” ในภาษาไทยให้เห็นชัดๆ ดังนี้ –
(1) (คำวิเศษณ์) สมควร, เหมาะสม, เช่น ปฏิรูปเทส คือ ถิ่นที่สมควร หรือ ถิ่นที่เหมาะสม – นี่เป็นความหมายเดิมในบาลี
(2) (คำวิเศษณ์) เทียม, ไม่แท้, เช่น มิตรปฏิรูป – นี่คือความหมายของคำว่า “ปฏิรูปก” ในบาลี
(3) (คำกริยา) ปรับปรุงให้สมควร เช่น ปฏิรูปบ้านเมือง – เป็นความหมายเฉพาะในภาษาไทยซึ่งเอาความหมายมาจากคำว่า reform ในภาษาอังกฤษ โดยเอาคำว่า reform นั่นเองมาบัญญัติเทียบคำบาลี
re = ปฏิ
form = รูป
reform = ปฏิรูป
แต่เมื่อบัญญัติศัพท์ reform เป็น “ปฏิรูป” ก็ไปพ้องกับ “ปฏิรูป” ของบาลี แต่ความหมายเป็นของคำอังกฤษ
คนไทยเห็นคำว่า “ปฏิรูป” จะเอาความหมายของ reform มาคิด ไม่ได้เอาความหมายของ “ปฏิรูป” ในบาลีมาคิด
“ปฏิรูป” ของบาลีแปลเป็นอังกฤษว่า fit, proper, suitable, befitting, seeming
“ปฏิรูป” ของบาลีไม่ได้แปลว่า reform
แต่พร้อมกันนั้นเอง ภาษาไทยก็ใช้คำว่า “ปฏิรูป” ในความหมายของ “ปฏิรูปก” ด้วย เช่นคำในพจนานุกรมฯ ที่บอกว่า “เทียม, ไม่แท้, เช่น มิตรปฏิรูป”
“ปฏิรูป” ในคำว่า “มิตรปฏิรูป” นี้บาลีต้องใช้ว่า “ปฏิรูปก” คือเป็น “มิตฺตปฏิรูปก” ไม่ใช่ “มิตฺตปฏิรูป” หรือ “มิตรปฏิรูป” ในภาษาไทย เพราะในบาลี “ปฏิรูป” กับ “ปฏิรูปก” มีความหมายคนละอย่างกัน (ดูข้างต้น)
กรณีศึกษา :
มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ตั้งชื่อว่า “พรรคประชาชนปฏิรูป” เจตนาของผู้ตั้งชื่อเช่นนี้ก็คือจะให้มีความหมายว่า “ประชาชนปฏิรูป” ก็คือ “ประชาชนออกมาช่วยกันปรับปรุงแก้ไขบ้านเมืองให้ดีขึ้น”
แต่ถ้าเอาคำว่า “มิตรปฏิรูป” ซึ่งหมายถึง มิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้ มาเทียบ คำว่า “ประชาชนปฏิรูป” ก็อาจมีผู้แปลว่า ประชาชนเทียม คือไม่ใช่ประชาชนแท้ ความหมายก็จะผิดไปจากเจตนา
พูดเป็นสำนวนว่า-จากบวก กลายเป็นลบไปเลย
หมายเหตุ: บาลีวันละคำวันนี้ ขอให้พิจารณาในแง่ภาษาเท่านั้น โปรดทำใจให้ปลอดจากอคติในทางการเมืองด้วยประการทั้งปวง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ภาษายังถูกเล่นตลก
: กระนี้หรือความสกปรกจะไม่ถูกเอามาเล่นในการบริหารบ้านเมือง
#บาลีวันละคำ (2,428)
4-2-62