ทุกฺโขติณฺณา [1] (บาลีวันละคำ 2427)
ทุกฺโขติณฺณา [1]
บาลีในบทเพลง
มีผู้แต่งเพลงและเอาคำบาลีว่า “ทุกโขติณณา” ไปใส่เป็นท่อนหนึ่งของคำร้อง เป็นเหตุให้มีผู้สงสัยว่า “ทุกโขติณณา” แปลว่าอะไร มีความหมายว่าอย่างไร
“ทุกโขติณณา” เขียนแบบบาลีเป็น “ทุกฺโขติณฺณา” อ่านว่า ทุก-โข-ติน-นา
โปรดสังเกตว่า เขียนแบบบาลี “ทุกฺ-” มีจุดใต้ กฺ และ “-ติณฺ-” มีจุดใต้ ณฺ ตัวแรก
เขียนแบบบาลี ถ้าไม่มีจุดใต้ ก และ ณ คือเขียนเป็น “ทุกโขติณณา” จะต้องอ่านว่า ทุ-กะ-โข-ติ-นะ-นา ซึ่งไม่ใช่คำอ่านที่ประสงค์
แต่ถ้าเป็นการเขียนแบบบาลีไทยหรือเขียนแบบคำอ่าน “ทุกโขติณณา” (ไม่มีจุดใต้ ก และ ณ ตัวแรก) ก็อ่านว่า ทุก-โข-ติน-นา ได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องตกลงกันให้ดีว่า คำนี้จะเขียนแบบบาลีหรือจะเขียนแบบคำอ่าน
เขียนแบบบาลี “ทุกฺโขติณฺณา”
เขียนแบบคำอ่าน “ทุกโขติณณา”
“ทุกฺโขติณฺณา” (เขียนแบบบาลี) แยกศัพท์เป็น ทุกฺข + โอติณฺณา
(๑) “ทุกฺข” อ่านว่า ทุก-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ทุ (คำอุปสรรค = ชั่ว, ยาก, ลำบาก, ทราม) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + กฺวิ ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ทุ + กฺ + ขมฺ), ลบ กฺวิ และลบที่สุดธาตุ (ขมฺ > ข)
: ทุ + กฺ + ขมฺ = ทุกฺขมฺ + กฺวิ = ทุกฺขมกฺวิ > ทุกฺขม > ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ทำได้ยากที่จะอดทน” คือยากที่จะทนได้ = ทนนะทนได้ แต่ยากหน่อย หรือยากมาก
(2) กุจฺฉิต (น่ารังเกียจ) + ข (แทนศัพท์ว่า “สุข” = ความสุข), ลบ จฺฉิต (กุจฺฉิต > กุ), แปลง กุ เป็น ทุ, ซ้อน กฺ ระหว่าง ทุ กับ ข (ทุ + กฺ + ข)
: กุจฺฉิต + กฺ + ข = กุจฺฉิตกฺข > กุกฺข > ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ความสุขที่น่ารังเกียจ” เป็นการมองโลกในแง่ดี คือความทนได้ยากที่เกิดขึ้นนั้นมองว่า-ก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง แต่เป็นความสุขที่น่าเกลียด หรือน่ารังเกียจ
(3) ทฺวิ (สอง) + ขนุ (ธาตุ = ขุด) + อ ปัจจัย, แปลง ทฺวิ เป็น ทุ, ซ้อน กฺ ระหว่าง ทฺวิ กับธาตุ (ทฺวิ + กฺ + ขนฺ), ลบที่สุดธาตุ (ขนฺ > ข)
: ทฺวิ + กฺ + ขน = ทฺวิกฺขนฺ + อ = ทฺวิกฺขนฺ > ทุกฺขน > ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ขุดจิตเป็นสองอย่าง” คือจิตปกติเป็นอย่างหนึ่งอยู่แล้ว พอมีทุกข์มากระทบ ก็กระเทือนกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทำนองเดียวกับสำนวนที่ว่า “หัวใจแตกสลาย”
(4) ทุกฺขฺ (ธาตุ = ทุกข์) + อ ปัจจัย
: ทุกฺขฺ + อ = ทุกฺข แปลตามศัพท์ว่า“สภาวะที่ทำให้เป็นทุกข์” คำแปลสำนวนนี้ในภาษาบาลีมีความหมาย แต่ในภาษาไทย เท่ากับพูดว่า มืดคือค่ำ และ ค่ำคือมืด คือเป็นเพียงบอกให้รู้ว่า สิ่งนั้นเรียกว่า “ทุกข์” หรือเล่นสำนวนว่า “ทุกข์ก็คือทุกข์”
ความหมายที่เข้าใจทั่วไป “ทุกข์” คือความยากลําบาก, ความไม่สบายกายไม่สบายใจ (grief & sorrow, afflictions of pain & misery, all kinds of misery)
(๒) “โอติณฺณา” รูปคำเดิมเป็น “โอติณฺณ” (โอ-ติน-นะ) รากศัพท์มาจาก โอ (คำอุปสรรค = ลง) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + ต ปัจจัย, แผลง อะ ที่ ต-(รฺ) เป็น อิ (ตรฺ > ติร), แปลง รฺ ที่สุดธาตุกับ ต ปัจจัยเป็น ณฺณ
: โอ + ตรฺ = โอตรฺ + ต = โอตรต > โอติรต > โอติณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “ข้ามลง”
“โอติณฺณ” เป็นคำกริยาและใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หยั่งลง, ก้าวลง (gone down, descended)
(2) ล้อมด้วย, ถูกกระทบ, เหยื่อของ, ถูกเข้าใกล้ (beset by, affected with, a victim of, approached by)
(3) ตกอยู่ในความรัก, กำลังหลงรัก, ใฝ่รัก, ตกหลุมรัก (affected with love, enamoured, clinging to, fallen in love with)
ทุกฺข + โอติณฺณ = ทุกฺโขติณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “-ถูกความทุกข์ข้ามลงแล้ว”
“ทุกฺโขติณฺณ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ปุงลิงค์ พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทุกฺโขติณฺณา”
คำว่า “ทุกฺโขติณฺณา” ที่คุ้นหูกันดี ปรากฏอยู่ในบทสวดทำวัตรเช้า ซึ่งมีข้อความในตอนนี้ว่า (เขียนแบบคำอ่าน) –
…………..
เต มะยัง โอติณณามะหะ ชาติยา ชะรามะระเณนะ, โสเกหิ ปะริเทเวหิ ทุกเขหิ โทมะนัสเสหิ อุปายาเสหิ, ทุกโขติณณา ทุกขะปะเรตา,
อัปเปวะนามิมัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ อันตะกิริยา ปัญญาเยถาติ.
แปลว่า —
พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ถูกครอบงำแล้วโดยความเกิด โดยความแก่และความตาย โดยความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งหลาย เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้
…………..
ตามคำแปลนี้ “ทุกฺโขติณฺณา” ท่านแปลว่า “เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทุกฺโขติณฺณา” ว่า fallen into misery (ถูกทุกข์ท่วมทับหรือครอบงํา)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จงรู้ทันทุกข์
: แต่อย่าหมุนตามทุกข์
#บาลีวันละคำ (2,427)
3-2-62