บาลีวันละคำ

ราชสมบัติ (บาลีวันละคำ 1,621)

ราชสมบัติ

อ่านว่า ราด-ชะ-สม-บัด

ประกอบด้วย ราช + สมบัติ

(๑) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + (ปัจจัย) ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๒) “สมบัติ

บาลีเป็น “สมฺปตฺติ” (สำ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง (ป)-ทฺ เป็น ตฺ

: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปทฺ + ติ = สมฺปทฺติ> สมฺปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อม” (คือความสำเร็จ) “ภาวะที่ถึงพร้อม

ขยายความว่า ถึงพร้อมด้วยสิ่งใด หรือบรรลุถึงสิ่งใด ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “สมฺปตฺติ

สมฺปตฺติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ (success, attainment; happiness, bliss, fortune)

(2) ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม (excellency, magnificence)

(3) เกียรติ (honour)

(4) ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม (prosperity, splendor)

สมฺปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สมบัติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมบัติ ๑ : (คำนาม) ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่ เช่น ถึงมีสมบัติมากมายก็ไม่พ้นความตายไป ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี มีสมบัติอย่างเดียวคือบ้าน. (ป., ส. สมฺปตฺติ).”

ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “สมบัติ” ก็คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ แต่ในภาษาบาลี “สมฺปตฺติ” มีความหมายมากกว่านั้น ดูคำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความเข้าใจในภาษาไทยมีเพียงคำว่า fortune เท่านั้น คำแปลอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้โดยตรงแต่อย่างใด

ราช + สมฺปตฺติ = ราชสมฺปตฺติ > ราชสมบัติ แปลทับศัพท์ว่า “สมบัติของพระราชา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราชสมบัติ : (คำนาม) สมบัติของพระมหากษัตริย์; ความเป็นพระมหากษัตริย์ เช่น ขึ้นครองราชสมบัติ.”

อภิปราย :

ในภาษาไทย เมื่อพูดถึง “สมบัติ” ก็เข้าใจกันว่าหมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้น และมักเข้าใจกันในความหมายเดียวนี้เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อพูดว่า “ราชสมบัติ” ก็เข้าใจกันว่า หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ทั้งหลายทั้งปวงของพระมหากษัตริย์

ในคัมภีร์บาลี ยังไม่พบคำว่า “ราชสมฺปตฺติ” แต่มีคำว่า “รชฺชสมฺปตฺติ” ซึ่งน่าจะเป็นรากศัพท์เดิมของคำว่า “ราชสมบัติ” ในภาษาไทย

รชฺช” (รัด-ชะ) หมายถึง –

(1) ความเป็นพระราชา, ความเป็นเจ้า, อาณาจักร, จักรพรรดิ; รัชสมัย, ราชบัลลังก์ (kingship, royalty, kingdom, empire; reign, throne)

(2) ความเป็นเอกราช, อำนาจอธิปไตย (sovereignty)

ส่วน “สมฺปตฺติ” หมายถึง ความถึงพร้อม, ความสำเร็จ, การบรรลุ (success, attainment)

รชฺชสมฺปตฺติ > ราชสมบัติ แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อมแห่งความเป็นพระราชา” หมายถึง การได้เป็นพระมหากษัตริย์ ไม่ได้เล็งไปที่ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ทั้งหลายทั้งปวงของพระมหากษัตริย์

คำว่า “สมบัติ” ที่เราเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง ก็คือคำว่า มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ

มนุษยสมบัติ” เข้าใจกันว่า เกิดเป็นมนุษย์แล้วร่ำรวยทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้

สวรรคสมบัติ” เข้าใจกันว่า เกิดในสวรรค์แล้วมีสมบัติทิพย์ต่างๆ มากมาย

แต่พอมาถึง “นิพพานสมบัติ” ถ้าบอกว่า บรรลุนิพพานแล้วร่ำรวยทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ หรือบรรลุนิพพานแล้วมีสมบัติทิพย์ต่างๆ มากมาย ก็จะผิดหลักธรรมทันที เพราะนิพพานจะมีทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ หรือมีสมบัติทิพย์ต่างๆ ไม่ได้

จะเห็นได้ชัดว่า คำว่า “สมบัติ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ หรือของทิพย์ต่างๆ ตามที่มักเข้าใจกัน

คำว่า “สมบัติ” ในที่นี้หมายถึง “ความถึงพร้อม” คือการได้เป็น–

มนุษยสมบัติ” หมายถึง การได้เกิดเป็นมนุษย์

สวรรคสมบัติ” หมายถึง การได้เกิดในสวรรค์

นิพพานสมบัติ” หมายถึง การได้บรรลุนิพพาน

ดังนั้น “ราชสมบัติ” จึงหมายถึง การได้เป็นพระราชา (เมื่อได้เป็นพระราชาแล้วจะได้ “สมบัติ” อะไรอีกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

แต่อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจผิดของผู้คนเป็นสิ่งที่ห้ามได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทะเลาะกันหรือขัดแย้งกันเพราะเข้าใจต่างกัน แต่ควรพยายามช่วยกันศึกษาให้รู้ความหมายที่แท้จริงเอาไว้ โดยหวังว่า เมื่อความรู้ที่ถูกต้องมีมากขึ้น ความเข้าใจที่ถูกต้องก็ควรจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก

…………

: ราชสมบัติอำนวยสุขให้ได้แค่ชาตินี้

: แต่ถ้าใช้เป็นปัจจัยสร้างบารมี ย่อมอำนวยสุขทุกภพทุกชาติ

11-11-59