บาลีวันละคำ

คาถาพระสุนทรีวาณี [2] (บาลีวันละคำ 2422)

คาถาพระสุนทรีวาณี [2]

แถลงศัพท์ : มุนินฺทวทนมฺโพช-

คาถาพระสุนทรีวาณี” มีข้อความดังนี้ —

…………..

มุนินฺทวทนมฺโพช-…..คพฺภสมฺภวสุนฺทรี

สรณํ ปาณินํ วาณี…..มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ.

พระวาณี คือพระสัทธรรมอันงดงาม สมภพในห้อง-

แห่งบงกช กล่าวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี

เป็นที่พึ่งแห่งปาณชาติทั้งหลาย

โปรดยังใจของข้าพระองค์ให้เอิบอิ่ม เทอญ.

…………..

จะได้อธิบายศัพท์ต่างๆ พอเป็นอลังการแห่งความรู้ไปตามลำดับ

บาทที่ 1 “มุนินฺทวทนมฺโพช-” (มุนินทะวะทะนัมโพชะ-) แยกศัพท์ได้ คือ มุนินฺท + วทน + อมฺโพช

(๑) “มุนินฺท

อ่านว่า มุ-นิน-ทะ ประกอบด้วยคำว่า มุนิ + อินฺท

(ก) “มุนิ” รากศัพท์มาจาก –

(1) มุนฺ (ธาตุ = รู้; ผูก) + อิ ปัจจัย

: มุนฺ + อิ = มุนิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รู้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น” (2) “ผู้รู้ประโยชน์ทั้งสอง” (3) “ผู้ผูกจิตของตนไว้มิให้ตกไปสู่อำนาจของราคะโทสะเป็นต้น

(2) โมน (ความรู้) + อี ปัจจัย, รัสสะ อี เป็น อิ, แผลง โอ ที่ โม-(น) เป็น อุ (โมน > มุน)

: โมน > มุน + อี = มุนี > มุนิ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความรู้หรือมีโมเนยยธรรม

มุนิ” หมายถึง ผู้บำเพ็ญพรต, ผู้ศักดิ์สิทธิ์, นักปราชญ์, คนฉลาด (a holy man, a sage, wise man)

มุนิ” ในภาษาไทยใช้เป็น “มุนิ” และ “มุนี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มุนิ, มุนี : (คำนาม) นักปราชญ์, ฤษี, พระสงฆ์. (ป., ส.).”

(ข) “อินท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)

: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง

(2) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ปัจจัย

: อินฺทฺ + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่

อินฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –

(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)

(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)

อินฺท” ในบาลีเป็น “อินฺทฺร” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อินฺทฺร : (คำนาม) พระอินทร์, เจ้าสวรรค์, เทพดาประจำทิศตะวันออก; Indra, the supreme deity presiding over Svarga, the regent of the east quarter.”

อินฺท” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อินทร์” แต่ที่คงเป็น “อินท์” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อินท์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช, พระอินทร์; ผู้เป็นใหญ่. (ป.; ส. อินฺทฺร).”

มุนิ + อินฺท = มุนินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งมุนี” แปลสั้นๆ ว่า “จอมมุนี” หมายถึง พระพุทธเจ้า

คำว่า “มุนินฺท” = พระจอมมุนี ที่เราคุ้นหูคุ้นปากกันดี ก็คือคำว่า “… ชิตวา มุนินฺโท” ในบทพุทธชัยมงคลคาถา หรือคาถาพาหุงนั่นเอง

(๒) “วทน

อ่านว่า วะ-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วทฺ + ยุ > อน = วทน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การพูด” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องพูด

วทน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, คำกล่าว (speech, utterance)

(2) ปาก (the mouth)

ในที่นี้ “วทน” หมายถึง ปาก

คำว่า “วทน” ที่หมายถึง “ปาก” ที่คุ้นกันดี คือคำในพระคาถาชินบัญชรบทที่ว่า –

กุมารกสฺสโป เถโร

มเหสี จิตฺตวาทโก

โส มยฺหํ วทเน นิจฺจํ

ปติฏฺฐาสิ คุณากโร.

ขอเชิญพระกุมารกัสสปเถระ

ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

มีคำพูดอันวิจิตรไพเราะ

เป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรม

ประดิษฐานอยู่เป็นประจำที่ปากของข้าพเจ้า

วทเน” (รูปคำเดิมคือ “วทน”) ในที่นี้ก็แปลว่า “ปาก

(๓) “อมฺโพช

อ่านว่า อำ-โพ-ชะ รูปคำเดิมเป็น “อมฺพุช” (อำ-พุ-ชะ) รากศัพท์มาจาก อมฺพุ +

(ก) “อมฺพุ” อ่านว่า อำ-พุ รากศัพท์มาจาก อมฺพฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อุ ปัจจัย

: อมฺพฺ + อุ = อมฺพุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่งเสียงได้” หมายถึง น้ำ (water)

(ข) อมฺพุ + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: อมฺพุ + ชนฺ = อมฺพุชนฺ + กฺวิ = อมฺพุชนกฺวิ > อมฺพุชน > อมฺพุช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดในน้ำ” (water-born)

อมฺพุช” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ปลา (a fish)

(2) ดอกบัว (a lotus)

ในที่นี้ “อมฺพุช” หมายถึง ดอกบัว

การประสมคำ :

มุนินฺท + วทน = มุนินฺทวทน แปลว่า “ปากของจอมมุนี” คือที่แปลว่า “พระโอษฐ์ของพระจอมมุนี” คือพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

มุนินฺทวทน + อมฺพุช = มุนินฺทวทนมฺพุช (มุ-นิน-ทะ-วะ-ทะ-นัม-พุ-ชะ) แปลว่า “ดอกบัวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี

หรือจะประสมแบบนี้ก็ได้ :

วทน + อมฺพุช = วทนมฺพุช (วะ-ทะ-นัม-พุ-ชะ) แปลว่า “ดอกบัวคือปาก” (ดอกบัวคือพระโอษฐ์) คือเปรียบเทียบปากว่าเหมือนกับดอกบัว

ถามว่า – ปากของใคร

ตอบว่า – ปากของพระจอมมุนี

: มุนินฺท + วทนมฺพุช = มุนินฺทวทนมฺพุช แปลว่า “ดอกบัวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี

“…อมฺพุช” แผลง อุ ที่ พุ เป็น โอ เนื่องจาก –พุ– อยู่ในตำแหน่งที่ต้องเป็นคำครุ (ครุ = คำหนัก คือคำที่มีตัวสะกดหรือคำสระเสียงยาว) ทั้งนี้เพื่อความสละสลวยในเวลาสวดเป็นทำนอง กฎเกณฑ์เช่นนี้ภาษาวิชาการเรียกว่า “ฉันทานุรักษ์”

มุนินฺทวทนมฺพุช” จึงเป็น “มุนินฺทวทนมฺโพช-” (โปรดสังเกตเครื่องหมายขีด – หลัง — บอกให้รู้ว่าศัพท์ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ แต่เพราะจำนวนคำครบเป็นวรรคหนึ่งหรือบาทหนึ่งแล้ว จึงต้องตัดคำไว้เพียงนี้ ยังมีคำอื่นมาสมาสเป็นคำเดียวกันต่อไปอีก แต่อยู่คนละวรรคกัน)

อภิปราย :

๑ ตรงคำว่า “…วทนมฺโพช-” นี้ ต้นฉบับบางฉบับเป็น “…วทนมฺพุช-” คือไม่แผลง อุ เป็น โอ ก็มี เช่นคำตามภาพประกอบที่เป็นอักษรขอม วรรคแรก ถอดเป็นอักษรไทยว่า “มุนินฺทวทนมฺพุช

๒ คำว่า “…วทนมฺโพช-” บางฉบับเป็น “…วทนมฺโภช-” คือใช้ “อมฺโภช” ( สำเภา) แทน “อมฺโพช” (ซึ่งแผลงมาจาก “อมฺพุช”)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “อมฺภ และ อมฺโภ” แปลว่า water, sea (น้ำ, ทะเล) อ้างอิงคัมภีร์ทาฐวํส ซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นหลัง

ค้นดูในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ยังไม่พบคำว่า “อมฺภ” หรือ “อมฺโภ” ที่แปลว่า น้ำ (ท่านผู้ใดพบ กรุณาชี้แนะด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง)

คัมภีร์ อภิธานปฺปทีปิกา แสดงศัพท์ที่แปลว่า “น้ำ” ไว้ทั้งหมด 15 คำ ก็ไม่มีคำว่า “อมฺภ” หรือ “อมฺโภ

อย่างไรก็ตาม สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อมฺภสฺ” และ “อมฺโภช” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) อมฺภสฺ : (คำนาม) น้ำ; water.

(2) อมฺโภช : (คำนาม) บัว; พระจันทร์; นกกะเรียน; a lotus; the moon; an Indian crane; – (คำวิเศษณ์) อาศรัยอยู่ในน้ำ, เกิดในน้ำ; aquatic, water-born.

เป็นอันว่า “อมฺโภช” ที่แปลว่า “บัว” มีในสันสกฤต

และเป็นอันว่า บางฉบับที่เป็น “มุนินฺทวทนมฺโภช-” ก็น่าจะใช้อิงสันสกฤตนั่นเอง

สรุปความว่า “มุนินฺทวทนมฺโพช-” หรือ “มุนินฺทวทนมฺพุช-” หรือ “มุนินฺทวทนมฺโภช-” แปลว่า “ดอกบัวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี

และข้อความนี้แม้จะกล่าวขึ้นก่อนเป็นวรรคแรก แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ในตัวเอง เพราะมีคำที่กล่าวต่อมาประกอบกันเข้าจึงจะได้ความครบถ้วน ซึ่งจะได้นำศัพท์นั้นๆ มาแถลงต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พูดดี ปากเหมือนดอกบัว

: พูดชั่ว ปากเหมือนดอกอุตพิด

#บาลีวันละคำ (2,422)

29-1-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *