บาลีวันละคำ

ริษยา ไม่ใช่ อิจฉา (บาลีวันละคำ 2,676)

ริษยา ไม่ใช่ “อิจฉา

ริษยา” อ่านว่า ริด-สะ-หฺยา

อิจฉา” อ่านว่า อิด-ฉา

ในภาษาไทยมีคำที่พูดกันว่า “อิจฉาริษยา” ในความหมายว่า “อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้”

ตามคำพูดนี้ น้ำหนักแห่งความหมายของคำอยู่ที่ “ริษยา” ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ริษยา : (คำกริยา) อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้. (ส. อีรฺษฺยา; ป. อิสฺสา).”

ไปดูที่ “อิจฉา” พจนานุกรมฯ ก็บอกไว้ว่า –

อิจฉา : (คำกริยา) เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง (มีความหมายเบากว่า ริษยา). (ป., ส. อิจฺฉา ว่า ความอยาก, ความต้องการ, ความปรารถนา).”

จะเห็นได้ว่า ในภาษาไทย “ริษยา” กับ “อิจฉา” มีความหมายอย่างเดียวกัน

แต่ในบาลีสันสกฤต “ริษยา” กับ “อิจฉา” มีความหมายต่างกัน

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ริษยา” สันสกฤตเป็น “อีรฺษฺยา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อีรฺษา” “อีรฺษฺยา” และ “อีรฺษฺย” บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) อีรฺษา, อีรฺษฺยา : (คำนาม) ความฤษยา; envy.

(2) อีรฺษฺย : (คำนาม) ความฤษยา; ความผูกแค้นหรือมาดร้ายหมายขวัญ; envy; malice or spite; ค. มีความฤษยา; envious.

คราวนี้ไปดู “อิจฉา” ในบาลี

อิจฉา” บาลีเขียน “อิจฺฉา” (มีจุดใต้ ) อ่านว่า อิด-ฉา รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา, อยาก) + ณฺย ปัจจัย (ปัจจัยตัวนี้ลงในคำใด ทำให้คำนั้นเป็นภาวนามหรืออาการนาม มักขึ้นต้นคำแปลว่า “ความ-,” หรือ “การ-”), ลบ ณฺ (ณฺย > ), แปลง กับ สฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺฉ (อิสฺ + = อิสฺย > อิจฺฉ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อิสฺ + ณฺย = อิสฺณฺย > อิสฺย > อิจฺฉ + อา = อิจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่อยากได้” หรือ “ความอยากได้” หมายถึง ความปรารถนา, ความประสงค์, ความต้องการ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิจฺฉา” ว่า wish, longing, desire (ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้)

โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษซึ่งมักจะใช้ยันกันได้

ริษยา” หรือ “อีรฺษฺยา” คำอังกฤษว่า envy; malice or spite

แต่ “อิจฺฉา” คำอังกฤษว่า wish, longing, desire

เพราะฉะนั้น เป็นอันยืนยันได้ชั้นหนึ่งว่า “ริษยา” ไม่ใช่ “อิจฉา

ถ้าเช่นนั้น “ริษยา” เป็นอะไรในบาลี?

อันที่จริง พจนานุกรมฯ ก็บอกไว้ด้วยแล้วว่า “ริษยา” บาลีเป็น “อิสฺสา

อิสฺสา” (มีจุดใต้ ตัวหน้า) อ่านว่า อิด-สา รากศัพท์มาจาก อิสฺสฺ (ธาตุ = ไม่พอใจ) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อิสฺสฺ + = อิสฺส + อา = อิสฺสา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ไม่พอใจในความดีทั้งที่มีอยู่ของผู้อื่น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสฺสา” ว่า jealousy, anger, envy, ill-will (ความอิจฉา, ความโกรธเคือง, ความริษยา, เจตนาร้าย)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อิสสา” ในภาษาไทยไว้ว่า –

อิสสา : (คำนาม) ความหึงหวง, ความชิงชัง. (ป.; ส. อีรฺษฺยา).”

โปรดสังเกตคำแปล “อิสฺสา” เป็นอังกฤษว่า jealousy, anger, envy, ill-will ซึ่งสอดคล้องกับคำแปลของ “ริษยา” หรือ “อีรฺษฺยา” ว่า envy; malice or spite

เพราะฉะนั้น เป็นอันยืนยันได้อีกชั้นหนึ่งว่า “ริษยา” ตรงกับบาลีว่า “อิสฺสา

ดูเพิ่มเติม:

อิจฉา-ริษยา” บาลีวันละคำ (385) 3-6-56

อิจฺฉา-อิสฺสา” บาลีวันละคำ (520) 17-10-56

อิจฉา ไม่ได้เพี้ยนมาจาก “อิสสา” บาลีวันละคำ (2,391) 29-12-61

อภิปรายขยายความ :

เป็นอันว่า มีคำที่เกี่ยวกันอยู่ 3 คำ คือ “ริษยา” “อิจฉา” และ “อิสสา

ในบาลีมีทั้ง “อิจฺฉา” (ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้ – wish, longing, desire) และ “อิสฺสา” (คือ “ริษยา” ความโกรธเคือง, ความริษยา, เจตนาร้าย – jealousy, anger, envy, ill-will)

คำบาลีสันสกฤตเมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย บางคำความหมายเคลื่อนที่หรือผิดเพี้ยนไปจากเดิม

และสรุปว่า ในภาษาไทยเราอาจพูดปนๆ กันไป ระหว่าง “ริษยา” “อิจฉา” และ “อิสสา

ที่มักจะพูดควบกันไปว่า “อิจฉาริษยา” ดังจะให้เข้าใจว่า “อิจฉา” กับ “ริษยา” มีความหมายเหมือนกันนั้น ขอให้ช่วยกันเข้าใจไว้ว่า “ริษยา” ไม่ใช่ “อิจฉา

การช่วยกันเข้าใจไว้เช่นนี้อาจไม่ได้ช่วยให้เราใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องตรงกับความหมายเดิมก็จริง แต่ก็เป็นองค์ความรู้ชนิดหนึ่ง รู้ไว้ดีกว่าไม่รู้

เมื่อเราเป็นผู้ใช้เองพูดเอง หากจำต้องใช้ตามกันไป ก็ใช้ไปด้วยความรู้เท่าทัน แต่ถ้ามีโอกาสเราก็สามารถแก้ไขใช้ให้ถูกต้องได้อย่างมั่นใจ ดีกว่าใช้ตามกันไปโดยไม่รู้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ถ้าเดินไปผิดทาง

จะหลับตาเดินหรือลืมตาเดิน

ก็ไปผิดทางเท่ากัน

: แต่คนลืมตาเดินที่ฉลาด

: มีโอกาสเปลี่ยนทาง

#บาลีวันละคำ (2,676)

10-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย