บาลีวันละคำ

เมรุมาศ (บาลีวันละคำ 1,628)

เมรุมาศ

อ่านว่า เม-รุ-มาด

ประกอบด้วย เมรุ + มาศ

(๑) “เมรุ

บาลีอ่านว่า เม-รุ รากศัพท์มาจาก –

1) มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รุ ปัจจัย, แผลง อิ (ที่ มิ) เป็น เอ (มิ > เม)

: มิ + รุ = มิรุ > เมรุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูเขาที่เบียดบังภูเขาทั้งหมดด้วยความสูงกว่าของตน” (2) “ภูเขาที่เบียดเบียนความมืดด้วยรัศมี

2) เม (ธาตุ = แลกเปลี่ยน) + รุ ปัจจัย

: เม + รุ = เมรุ แปลตามศัพท์ว่า “ภูเขาเป็นที่แลกเปลี่ยนความอภิรมย์กันแห่งพวกเทวดา

เมรุ” เป็นชื่อภูเขากลางจักรวาล คัมภีร์บรรยายว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกนี้

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เมรุ, เมรุ– [เมน, เม-รุ-] : (คำนาม) ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งพระอินทร์อยู่; ที่เผาศพ เดิมผูกหุ่นทำเป็นภูเขาตั้งที่เผาขึ้นบนนั้น ของหลวงทำเป็นเรือนโถง เครื่องยอดหรือมณฑปครอบที่เผา เรียกว่า พระเมรุ, ต่อมาเรียกที่เผาศพทั่วไปทั้งมียอดและไม่มียอดว่า เมรุ. (ป.).”

พจนานุกรมฯ วงเล็บไว้ว่า “ป.” หมายความว่า “เมรุ” เป็นคำบาลี

อันที่จริงคำนี้สันสกฤตก็เป็น “เมรุ” เช่นกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “เมรุ” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เมรุ : (คำนาม) ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในท่ามกลางเจ็ดทวีป, ชาวฮินดูกล่าวว่ามียอดสูง ๘๔,๐๐๐ โยชน์; แม่น้ำคงคาไหลจากสวรรค์บนยอดภูเขานั้น, และไหลจากนั้นไปยังปริสรสถโลกเปนลำน้ำสี่สาย, เทวดาประจำทิศตั้งรักษามุขต่างๆ แห่งบรรพตนั้น, สากลย์นั้นๆ ล้วนแล้วไปด้วยสุวรรณและมณี; the sacred mountain in the centre of the seven continents, whose height said by Hindus to be 84,00 yojanas; the river Ganges falls from heaven on its summit, and flows thence to the surrounding worlds in four streams, the regents of the points of the compass occupy the corresponding face of the mountain, the whole of which consist of gold and gems.”

(๒) “มาศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาศ : (คำนาม) ทอง; กํามะถัน.”

มาศ” ถ้าเป็นบาลี ก็ต้องเป็น “มาส” (มา-สะ)

ในบาลีมีคำว่า “มาส” แปลว่า เดือน (month), ดวงจันทร์ (the moon) และเป็นชื่อถั่วชนิดหนึ่ง แปลกันว่า “ถั่วราชมาส” ( -ราด-ชะ-มาด)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาส” ที่หมายถึง “ถั่ว” ว่า a bean (Phaseolus indica or radiata)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

ราชมาษ, ราชมาส : (คำนาม) ชื่อถั่วชนิด Phaseolus lunatus L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อไม่แตกแขนง, มาส ก็เรียก.”

เป็นอันว่า “มาส” ในบาลีไม่ได้แปลว่า “ทอง” เว้นไว้แต่จะตีความแบบลากเข้าความว่า “มาสดวงจันทร์” มีสีเหลืองเหมือนทอง หรือ “มาสถั่วราชมาส” มีดอกสีเหลือง (หรือเมล็ดถั่วมีสีเหลือง) เหมือนทอง ภาษาไทยก็เลยแปล “มาส > มาศ” ว่า ทอง

อย่างไรก็ตาม สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “มาษวรฺทฺธก” แปลว่า สุวรรณการ a goldsmith คือ “ช่างทอง”

มาษ > มาศ อาจตัดมาจากคำ “มาษวรฺทฺธก” นี้ และเป็นต้นเค้าให้เราแปล “มาศ” ว่า ทอง ก็ได้

เมรุ + มาศ = เมรุมาศ แปลจากหน้าไปหลังว่า “เมรุทอง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เมรุมาศ : (คำนาม) เมรุทอง, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระเมรุมาศ.”

…………..

เมรุ” อ่านอย่างไร :

ดูวิธีเขียนคำตั้งหรือ “แม่คำ” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะเห็นว่า พจนานุกรมฯ เขียนว่า เมรุ, เมรุ– และบอกคำว่า เมน, เม-รุ-

หมายความว่า –

ก. ถ้าอยู่โดดๆ ไม่ได้สมาสกับคำอื่น หรือสมาสกับคำอื่น แต่อยู่ท้ายคำ อ่านว่า เมน เช่น –

“ขอเชิญขึ้นทอดผ้าบังสุกุลบนเมรุ”

พูดว่า-ขอเชิญขึ้นทอดผ้าบังสุกุลบน เมน

ไม่ใช่-ขอเชิญขึ้นทอดผ้าบังสุกุลบน เม-รุ

ออกพระเมรุ” อ่านว่า ออก-พฺระ-เมน ไม่ใช่ ออก-พฺระ-เม-รุ

ข. ถ้าเป็นคำสมาส อยู่ต้นคำหรือกลางคำ อ่านว่า เม-รุ เช่น “เมรุมาศ” อ่านว่า เม-รุ-มาด ไม่ใช่ เมน-มาด

หลักนี้สามารถนำไปใช้กับการอ่านคำบาลีสันสกฤตในภาษาไทยโดยทั่วไป (อาจมียกเว้นเฉพาะกรณี) ได้ด้วย เช่น –

ปรมินทร” ถ้าอยู่โดดๆ หรืออยู่ท้ายคำ อ่านว่า ปะ-ระ-มิน

ถ้าเป็นคำสมาส อยู่ต้นคำหรือกลางคำ เช่น “ปรมินทรมหาภูมิพล” อ่านว่า ปะ-ระ-มิน-ทฺระ–

อภิปราย :

เขา “เมรุ” นี้ ยังมีชื่อว่า “สิเนรุ” และ “สุเมรุ” อีกด้วย

คนไทยคุ้นกับคำว่า “สุเมรุ” จึงมักเรียกว่า “เขาพระสุเมรุ

มีคติความเชื่อว่า เขาเมรุเป็นแดนสวรรค์ เมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ สมมุติว่าเสด็จคืนสู่สวรรค์ สถานที่ถวายพระเพลิงจึงเรียกว่า “พระเมรุ” หรือ “พระเมรุมาศ” และเรียกพิธีการถวายพระเพลิงว่า “ออกพระเมรุ

คำว่า “ออกพระเมรุ” สันนิษฐานว่าพูดตัดลัดมาจากกิริยาที่อัญเชิญพระบรมศพ “ออก” จากพระบรมมหาราชวังไปยัง “พระเมรุ” เพื่อถวายพระเพลิง เรียกสั้นๆ ว่า “ออกพระเมรุ

ชั้นเดิม เรียกที่ถวายพระเพลิงศพเจ้านายว่า “เมรุ” แต่เมื่อนานเข้า คนสามัญก็เอาคำนั้นไปเรียกด้วย จนในที่สุดที่เผาศพคนทั่วไปก็เรียกกันเป็นสามัญว่า “เมรุ

…………

: สร้างบุญไว้ทุกภพทุกชาติ

: คือการสร้างเมรุมาศสำหรับตัวเอง

18-11-59