กฎมนเทียรบาล (บาลีวันละคำ 1,627)
กฎมนเทียรบาล
อ่านว่า กด-มน-เทียน-บาน
ประกอบด้วย กฎ + มนเทียร + บาล
(๑) “กฎ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กฎ : (คำโบราณ) (คำกริยา) จดไว้เป็นหลักฐาน เช่น ให้นายยกกระบัตรกฎปากหลากคําไว้. (กฎหมายอายัดทาส), ตรา เช่น ตรัสแก่ขุนศรีภูริปรีชาให้กฎเป็นตําราไว้. (อัยการเบ็ดเสร็จ), “พระมหาธรรมราชาก็ตรัสให้กฎลงมาให้เอาพระยารามเป็นพระยาพิชัย”. (พงศ. ๑๑๓๖). (เทียบ ข. กต่ ว่า จด). (คำนาม) คําบังคับ เช่น จึ่งสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินก็ตรัสให้ทําตามกฎให้ลงมานั้นทุกประการ. (พงศ. ๑๑๓๖); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อกําหนดหรือข้อบัญญัติที่บังคับให้ต้องมีการปฏิบัติตาม เช่น กฎกระทรวง กฎหมาย; (คำที่ใช้ในวิทยาศาสตร์) ข้อกําหนดในเรื่องธรรมชาติตามที่ค้นคว้าได้. (อ. law).”
ในที่นี้ “กฎ” ใช้ในความหมายว่า ข้อกําหนดหรือข้อบัญญัติที่บังคับให้ต้องมีการปฏิบัติตาม
อภิปรายแทรก :
พจนานุกรมฯ บอกว่า “(เทียบ ข. กต่ ว่า จด)” หมายความว่า คำว่า “กฎ” นี้เทียบได้กับคำเขมรว่า “กต่” แปลว่า จด
ที่ว่าเทียบได้กับคำเขมร ก็ไม่ได้หมายความว่า “กฎ” เป็นภาษาเขมร เพียงแต่เทียบได้กับคำเขมรว่า “กต่” เท่านั้น เขมรจะเอาคำว่า “กต่” มาจากภาษาอะไร หรือเป็นคำเขมรเองแท้ๆ ก็ต้องสืบค้นกันต่อไป
(๒) “มนเทียร”
บาลีเป็น “มนฺทิร” (มัน-ทิ-ระ) รากศัพท์มาจาก มนฺทฺ (ธาตุ = เบิกบาน) + อิร ปัจจัย
: มนฺทฺ + อิร = มนฺทิร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เบิกบานใจแห่งผู้คน” หมายถึง บ้าน, อาคาร, วัง (a house, edifice, palace)
“มนฺทิร” ในภาษาไทยใช้เป็น “มนเทียร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนเทียร : (คำนาม) เรือนหลวงซึ่งใช้เป็นที่ประทับประจำของพระมหากษัตริย์ ใช้ว่า พระราชมนเทียร, โบราณใช้ว่า พระราชมณเฑียร. (ป., ส. มนฺทิร).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “(ป., ส. มนฺทิร)” หมายความว่า คำว่า “มนเทียร” นี้ ทั้งบาลีและสันสกฤตเป็น “มนฺทิร” เหมือนกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“มนฺทิร : (คำนาม) แผลงใช้เปน – ‘มนเทียร,’ บ้าน, เรือน; เมือง; วิหาร; ทเล; ปฤษฐภาคของเข่า; โรงรถ; โรงม้า; a house; a town; a temple; sea; the bact part of knee; a stable.”
(๓) “บาล”
บาลีเป็น “ปาล” (ปา-ละ) รากศัพท์มาจาก ปาลฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ ปัจจัย
: ปาลฺ + อ = ปาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” หมายถึง ยาม, ผู้รักษา, ผู้คุ้มครอง, ผู้ป้องกัน (a guard, keeper, guardian, protector)
“ปาล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บาล” (บาน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บาล : (คำกริยา) เลี้ยง, รักษา, คุ้มครอง, ปกครอง, เช่น บาลเมือง, โดยมากใช้เป็นคำหลังสมาส เช่น โลกบาล รัฐบาล นครบาล โคบาล นิรยบาล. (ป., ส. ปาล).”
มนเทียร + บาล = มนเทียรบาล แปลตามศัพท์ว่า “รักษาวัง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนเทียรบาล : (คำนาม) กฎหมายว่าด้วยการปกครองภายในพระราชฐาน, เรียกข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน พระราชวงศ์ และระเบียบการปกครองในราชสำนัก ว่า กฎมนเทียรบาล; ผู้มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองภายในพระราชฐาน, โบราณใช้ว่า มณเฑียรบาล.”
กฎ + มนเทียรบาล = กฎมนเทียรบาล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กฎมนเทียรบาล : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน พระราชวงศ์ และระเบียบการปกครองในราชสํานัก, โบราณใช้ว่า กฎมณเฑียรบาล หรือ กฎมณเทียรบาล ก็มี.”
ข้อสังเกต :
สังเกตเห็นว่า คำว่า “มนเทียร” ในคำว่า “กฎมนเทียรบาล” ที่เขียนกันทุกวันนี้ มีผู้สะกดเป็น “มณเฑียร” (ณ เณร ฑ มณโฑ) กันมาก แทบว่าจะไม่มีใครสะกดเป็น “มนเทียร” เลย
หลักภาษาก็ชัดเจนว่า คำนี้ทั้งบาลีและสันสกฤตเป็น “มนฺทิร” (น หนู ท ทหาร) ไม่ใช่ “มณฺฑิร”
พจนานุกรมฯ ก็บอกไว้ชัดว่า “มณเฑียร” เป็นคำโบราณ คือเป็นการสะกดตามแบบโบราณ ปัจจุบันสะกดเป็น “มนเทียร” ตามหลักภาษาแล้ว แต่คนก็ยังไม่ฟัง ซึ่งก็คือไม่รับรู้นั่นเอง นับว่าชอบกลมาก
เทียบได้กับคำว่า “จำวัด” แม้จะตะโกนบอกลั่นโลกว่า “จำวัด” หมายถึง “พระนอนหลับ” แต่คนสมัยใหม่ก็ยัง “ตะบี้ตะบัน” ใช้ในความหมายว่า “อยู่ประจำที่วัด” ชนิดที่ไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งนั้น นอกจากยึดตามความเข้าใจของตัวเองอยู่นั่นแล้ว
จะเห็นได้ว่า ความเขลาและความดื้อรั้นของมนุษย์นั้นเป็นศัตรูที่น่ากลัวอย่างยิ่งต่อตัวมนุษย์เอง
………….
: ถ้าใจกบฏ ร้อยกฎพันกฎ ก็แหกหมดทุกกฎไป
: ถ้าใจซื่อตรงหมดจด แม้ไม่มีสักกฎ ก็ไม่กบฏหัวใจ
17-11-59