บาลีวันละคำ

ศีล-ข้อ 2 ในทศพิธราชธรรม (บาลีวันละคำ 1,631)

ศีล-ข้อ 2 ในทศพิธราชธรรม

………………………………………

ทศพิธราชธรรม” (ทด-สะ-พิด-ราด-ชะ-ทำ)

บาลีเป็น “ทสวิธราชธมฺม” (ทะ-สะ-วิ-ทะ-รา-ชะ-ทำ-มะ)

ทส = สิบ (จำนวนสิบ)

วิธ = มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ

ราช = พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองบ้านเมือง

ธมฺม = หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ

ทสวิธ” แปลว่า “มีสิบอย่าง” (tenfold)

ราชธมฺม” แปลว่า “ราชธรรมหรือหลักของการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”, คือ กฎของการปกครอง, แบบแผนของความเป็นกษัตริย์ (“king’s rule,” i. e. rule of governing, norm of kingship)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ราชธรรม 10 บอกความหมายไว้ว่า –

“ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง (Rājadhamma: virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler).”

ทสวิธราชธมฺม – ทศพิธราชธรรม” ประกอบด้วย – 1 ทาน 2 ศีล 3 ปริจจาคะ 4 อาชชวะ 5 มัททวะ 6 ตบะ 7 อักโกธะ 8 อวิหิงสา 9 ขันติ 10 อวิโรธนะ

………………………………………

ศีล” บาลีเป็น “สีล” (สี-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + ปัจจัย

: สีลฺ + = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย

(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย, ยืดเสียง (ทีฆะ) อิ ที่ สิ เป็น อี

: สิ + = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้

นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย

สีล” หมายถึง :

(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)

(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)

สีล” ในบาลี เป็น “ศีล” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) ศีล : (คำคุณศัพท์) มี; มีความชำนาญ; มีมรรยาทหรือจรรยาดี, มีอารมณ์ดี; endowed with, or possessed of; versed in; well-behaved, well-disposed.

(2) ศีล : (คำนาม) ชาติหรือปรกฤติ, คุณหรือลักษณะ; ภาวะหรืออารมณ์; สุศีล, จรรยา– มรรยาท– หรืออารมณ์ดี; การรักษาหรือประติบัทธรรมและจรรยาไว้มั่นและเปนระเบียบ; โศภา, ความงาม; งูใหญ่; nature, quality; disposition or inclination; good conduct or disposition; steady or uniform observance of law and morals; beauty; a large snake.

ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ศีล” ไว้ว่า –

ศีล : ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา (ข้อ 1 ในไตรสิกขา, ข้อ 2 ในบารมี 10, ข้อ 2 ในอริยทรัพย์ 7, ข้อ 2 ในอริยวัฑฒิ 5)”

……………

ความหมายเฉพาะของ “ศีล” ข้อ 2 ในทศพิธราชธรรม :

คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 8 อันเป็นคัมภีร์ที่อธิบายมหาหังสชาดกซึ่งเป็นที่มาของหลักทศพิธราชธรรม หน้า 282 ไขความคำว่า “ศีล” ไว้ว่า –

ปญฺจสีลทสสีลาทีนิ  สีลํ

แปลว่า “ศีล 5 และศีล 10 เป็นต้น ชื่อว่าศีล

หมายความว่า คำว่า “ศีล” ในทศพิธราชธรรมนี้ หมายถึง ศีล 5 และศีล 10

คำว่า “เป็นต้น” บ่งความว่า ไม่ใช่เพียงศีล 5 และศีล 10 เท่านั้น แม้ศีลอื่นๆ อีก ถ้าสามารถนำมาเป็นข้อปฏิบัติได้ ก็ชื่อว่า “ศีล” ในที่นี้ด้วยเช่นกัน

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความไว้ว่า –

ศีล (ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน — Sīla: high moral character).”

อภิปราย :

ทฤษฎีการเมืองบางสำนักบอกว่า นักปกครองที่ดีไม่จำเป็นต้องมีศีล ขอให้เก่งอย่างเดียวก็พอ

หลักการปกครองของพระพุทธศาสนายืนยันว่า นักปกครองที่ดีต้องมีศีล นั่นหมายความว่า นักปกครองที่ไม่มีศีลอาจเป็นนักปกครองที่เก่ง แต่จะเรียกว่าเป็น “นักปกครองที่ดี” หาได้ไม่

นักอธิบายธรรมะนิยมจำกัดความเพื่อเข้าใจง่ายว่า ศีลก็คือระเบียบวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้นำที่น่ายำเกรง

: คือผู้ที่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่ในระเบียบวินั

21-11-59