ปริจจาคะ-ข้อ 3 ในทศพิธราชธรรม (บาลีวันละคำ 1,632)
ปริจจาคะ-ข้อ 3 ในทศพิธราชธรรม
………………………………………
“ทศพิธราชธรรม” (ทด-สะ-พิด-ราด-ชะ-ทำ)
บาลีเป็น “ทสวิธราชธมฺม” (ทะ-สะ-วิ-ทะ-รา-ชะ-ทำ-มะ)
ทส = สิบ (จำนวนสิบ)
วิธ = มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ
ราช = พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองบ้านเมือง
ธมฺม = หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ
“ทสวิธ” แปลว่า “มีสิบอย่าง” (tenfold)
“ราชธมฺม” แปลว่า “ราชธรรมหรือหลักของการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”, คือ กฎของการปกครอง, แบบแผนของความเป็นกษัตริย์ (“king’s rule,” i. e. rule of governing, norm of kingship)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ราชธรรม 10 บอกความหมายไว้ว่า –
“ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง (Rājadhamma: virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler).”
“ทสวิธราชธมฺม – ทศพิธราชธรรม” ประกอบด้วย – 1 ทาน 2 ศีล 3 ปริจจาคะ 4 อาชชวะ 5 มัททวะ 6 ตบะ 7 อักโกธะ 8 อวิหิงสา 9 ขันติ 10 อวิโรธนะ
………………………………………
“ปริจจาคะ” บาลีเป็น “ปริจฺจาค” อ่านว่า ปะ-ริด-จา-คะ รากศัพท์มาจาก ปริ + จาค
(๑) “ปริ” (ปะ-ริ)
เป็นคำอุปสรรค (คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ; ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด (around, round about; all round, completely, altogether)
(๒) “จาค” (จา-คะ) รากศัพท์มาจาก จชฺ (ธาตุ = สละ, ละ) +
ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (จชฺ > จาช), แปลง ช ที่สุดธาตเป็น ค (จชฺ > จค)
: จชฺ + ณ = จชณ > จช > จาช > จาค แปลตามศัพท์ว่า “การสละ”
“จาค” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การทิ้ง, การสละ, การยอมให้ (abandoning, giving up, renunciation)
(2) ความมีใจกว้าง, ความเผื่อแผ่อารี, ความมีใจใหญ่ใจโต (liberality, generosity, munificence);
(3) เผื่อแผ่อารี, มีใจคอกว้างขวาง (generous, munificent)
ปริ + จาค ซ้อน จฺ ระหว่างอุปสรรคกับนาม
: ปริ + จฺ + จาค = ปริจฺจาค แปลตามศัพท์ว่า “การสละรอบด้าน”
“ปริจฺจาค” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การเลิก, การยกเลิก, การบริจาค, การสละ (giving up, abandonment, sacrifice, renunciation)
(2) ค่าใช้จ่าย (expense)
(3) การให้ (แก่คนจน), ความโอบอ้อมอารี (giving [to the poor], liberality)
“ปริจฺจาค” ในที่นี้ใช้ตามรูปเดิมเป็น “ปริจจาคะ” แต่ในภาษาไทยใช้เป็น “บริจาค”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บริจาค : (คำกริยา) สละให้, เสียสละ. (คำนาม) การสละ, การให้, การแจก, ความเสียสละ, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม). (ป. ปริจฺจาค; ส. ปริตฺยาค).”
บาลี “ปริจฺจาค” สันสกฤตเป็น “ปริตฺยาค”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปริตฺยาค : (คำนาม) การสละ; ศูนย์, ความเสียหาย; desertion; loss.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “บริจาค” ไว้ว่า –
“บริจาค : สละให้, เสียสละ, สละออกไปจากตัว, การสละให้หมดความเห็นแก่ตัว หรืออย่างมิให้มีความเห็นแก่ตน โดยมุ่งเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อความดีงาม หรือเพื่อการก้าวสูงขึ้นไปในธรรม เช่น ธนบริจาค (การสละทรัพย์) ชีวิตบริจาค (การสละชีวิต) กามสุขบริจาค (การสละกามสุข) อกุศลบริจาค (การสละละอกุศล); บัดนี้ มักหมายเฉพาะการร่วมให้หรือการสละเพื่อการบุญอย่างเป็นพิธี.”
……………
ความหมายเฉพาะของ “บริจาค” ข้อ 3 ในทศพิธราชธรรม :
คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 8 อันเป็นคัมภีร์ที่อธิบายมหาหังสชาดกซึ่งเป็นที่มาของหลักทศพิธราชธรรม หน้า 282 ไขความคำว่า “ปริจจาคะ” ไว้ว่า –
“เทยฺยธมฺมจาโค ปริจฺจาโค”
แปลว่า “การสละสิ่งที่ควรให้ ชื่อว่าปริจจาคะ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความไว้ว่า –
“ปริจจาคะ (การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง — Pariccāga: self-sacrifice).”
อภิปราย :
เรามักเข้าใจว่า “บริจาค” กับ “ทาน” มีความหมายเหมือนกัน เพราะ “บริจาค” หมายถึง ให้ “ทาน” ก็แปลว่า ให้
แต่เวลาพูดบางทีก็แยกความหมายกัน เช่นพูดว่า “บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” แต่ไม่พูดว่า “ให้ทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย”
“บริจาค” กับ “ทาน” มีความหมายเหมือนกันในบางแง่ ต่างกันในบางมุม มีหลักสังเกตดังนี้ –
1 ถ้ากล่าวถึงเฉพาะ “บริจาค” หรือ “ทาน” เพียงคำเดียว มีความหมายเหมือนกัน
2 ถ้ามีทั้ง “บริจาค” และ “ทาน” อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่นในทศพิธราชธรรมซึ่งมีทั้งทาน (ข้อ 1) และบริจาค (ปริจจาคะ) (ข้อ 3)
: ทาน หมายถึงให้วัตถุทรัพย์สิ่งของ
: บริจาค หมายถึงเสียสละในรูปแบบอื่นๆ เช่น สละเวลา สละความสุขส่วนตัว สละความเห็นแก่ตัว เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น
บางทีก็มีผู้แยกว่า :
– ถ้ามีตัวผู้รับปรากฏอยู่แน่นอน เรียกว่า “ทาน”
– ถ้ามิได้เจาะจงว่าสิ่งที่ให้นั้นจะไปถึงใครโดยเฉพาะ เรียกว่า “บริจาค”
หรือจะสังเกตตามคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก็อาจช่วยให้แยกความหมายได้ชัดเจนขึ้น :
– ทาน = giving, dealing out, gift; almsgiving = สละสิ่งของ
– บริจาค = liberality, generosity, munificence = สละกิเลส
……………
ดูก่อนภราดา!
: นักปกครองที่อยู่ในหัวใจคน
เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อทวยราษฎร์
: นักปกครองที่ถูกตำหนิทุกชาติ
เบียดบังประชาราษฎร์ เพื่อประโยชน์ส่วนตน
22-11-59