บาลีวันละคำ

อาชชวะ-ข้อ 4 ในทศพิธราชธรรม (บาลีวันละคำ 1,633)

อาชชวะ-ข้อ 4 ในทศพิธราชธรรม

………………………………………

ทศพิธราชธรรม” (ทด-สะ-พิด-ราด-ชะ-ทำ)

บาลีเป็น “ทสวิธราชธมฺม” (ทะ-สะ-วิ-ทะ-รา-ชะ-ทำ-มะ)

ทส = สิบ (จำนวนสิบ)

วิธ = มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ

ราช = พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองบ้านเมือง

ธมฺม = หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ

ทสวิธ” แปลว่า “มีสิบอย่าง” (tenfold)

ราชธมฺม” แปลว่า “ราชธรรมหรือหลักของการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”, คือ กฎของการปกครอง, แบบแผนของความเป็นกษัตริย์ (“king’s rule,” i. e. rule of governing, norm of kingship)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ราชธรรม 10 บอกความหมายไว้ว่า –

“ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง (Rājadhamma: virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler).”

ทสวิธราชธมฺม – ทศพิธราชธรรม” ประกอบด้วย – 1 ทาน 2 ศีล 3 ปริจจาคะ 4 อาชชวะ 5 มัททวะ 6 ตบะ 7 อักโกธะ 8 อวิหิงสา 9 ขันติ 10 อวิโรธนะ

………………………………………

อาชชวะ” บาลีเป็น “อาชฺชว” (เป็น “อชฺชว” ก็มี) รากศัพท์มาจาก อุชุ + ณฺย ปัจจัย

(๑) “อุชุ” รากศัพท์มาจาก –

1) อชฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(ชฺ) เป็น อุ (อชฺ > อุช)

: อชฺ + อุ = อชุ > อุชุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปสู่ความไม่คด

2) อรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ชุ ปัจจัย, แปลง อรฺ เป็น อุ (อรฺ > อุ)

: อร > อุ + ชุ = อุชุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปโดยไม่คด

3) อุชุ (ธาตุ = ตรง, ซื่อตรง, ซื่อสัตย์) + ปัจจัย

: อุชุ + = อุชุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ตรง

อุชุ” หมายถึง ตรง, โดยตรง; ตรงไปตรงมา, ซื่อสัตย์, ซื่อตรง (straight, direct; straightforward, honest, upright)

บาลี “อุชุ” สันสกฤตเป็น “ฤชุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ฤชุ : (คำคุณศัพท์) ตรง ซื่อตรง, สุจริต; straight; upright; honest.”

……………

เกร็ดภาษา :

นักภาษาบางสำนักสันนิษฐานว่า คำว่า “อรชร” (ออ-ระ-ชอน = งามอย่างเอวบางร่างน้อย) ในภาษาไทย น่าจะแผลงมาจาก “อุชุ” โดยสูตรว่า “แปลง อุ เป็น

: อุ– > อร

: –ชุ > –ชร

: อุชุ > อรชร

พึงรับฟังด้วยความระมัดระวัง

……………

(๒) อุชุ + ณฺย ปัจจัย, แปลง อุ ที่ อุ-(ชุ) เป็น อชฺ (อุชุ > อชฺชุ), แผลง อุ ที่ (อุ)-ชุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อุชุ > อุโช > อุชว), ลบ ณฺย, ทีฆะ อะ ที่ อชฺ– (ซึ่งแปลงมาจาก อุ-) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (อชฺ– > อาชฺ-)

: อุชุ + ณฺย = อุชุณฺย > อุชุ > อชฺชุ > อชฺโช > อชฺชว > อาชฺชว (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้ซื่อตรง” “ความเป็นผู้ซื่อตรง” หมายถึง ตรง, ซื่อตรง (straight, upright)

บาลี “อาชฺชว” สันสกฤตเป็น “อารฺชว

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อารฺชว : (คำนาม) ความตรง; straightness or rectitude.”

อาชฺชว” ในที่นี้เขียนเป็นคำไทยตามบาลีเป็น “อาชชวะ” ( ช้าง สองตัว) แต่ในภาษาไทยใช้เป็น “อาชวะ” ( ช้าง ตัวเดียว) อ่านว่า อาด-ชะ-วะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาชวะ : (คำนาม) ความซื่อตรง, ความตรงไปตรงมา, ความมีสัตย์, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม). (ป. อาชฺชว; ส. อารฺชว).”

……………

ความหมายเฉพาะของ “อาชชวะ” ข้อ 4 ในทศพิธราชธรรม :

คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 8 อันเป็นคัมภีร์ที่อธิบายมหาหังสชาดกซึ่งเป็นที่มาของหลักทศพิธราชธรรม หน้า 283 ไขความคำว่า “อาชชวะ” ไว้ว่า –

อุชุภาโว  อาชฺชวํ

แปลว่า “ความเป็นผู้ซื่อตรง ชื่อว่า อาชชวะ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความไว้ว่า –

อาชชวะ (ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน — Ājjava: honesty; integrity).”

……………

ดูก่อนภราดา!

: ประชาชนที่ไม่ซื่อตรงต่อผู้ปกครอง ยังมีสิทธิ์เป็นประชาชน

: แต่ผู้ปกครองที่ไม่ซื่อตรงต่อประชาชน ย่อมไม่มีสิทธิ์เป็นผู้ปกครอง

23-11-59