ทรพี (บาลีวันละคำ 313)
ทรพี
ในภาษาไทย อ่านว่า ทอ-ระ-พี มีความหมาย 2 อย่าง คือ
1. เครื่องตักข้าวและแกงมีรูปร่างคล้ายช้อน แต่ใหญ่กว่า – ความหมายนี้ตรงกับคำบาลีว่า “ทพฺพิ” (ทับ-พิ) เราใช้ว่า “ทัพพี” = ทพฺพิ เราใช้เป็น ทัพพี และ ทรพี
2. เนรคุณถึงประทุษร้ายพ่อแม่ – ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ทุรฺพฺพี” บาลีว่า ทุพฺภี (ทุบ-พี) รากเดิมของคำมีความหมายว่า หลอกลวง, ทำให้เจ็บ, พยายามประทุษร้าย, ไว้ใจไม่ได้, มีเล่ห์กระเท่ห์, ทรยศ, คดโกง, หน้าไหว้หลังหลอก หรือพูดกับทำไม่ตรงกัน
ในวัฒนธรรมไทย “ทรพี” เป็นคำเรียกลูกที่ไม่รู้คุณพ่อแม่ว่า “ลูกทรพี”
ในวัฒนธรรมบาลี “ทุพฺภี” ถ้าใช้ควบกับ “มิตฺต” (มิตร) เป็น “มิตฺตทุพฺภ” (มิด-ตะ-ทุบ-พะ) ใช้เรียกคนที่ไม่รู้จักบุญคุณของสิ่งที่ตนอาศัย
สมด้วยภาษิตว่า :
ยสฺส รุกฺขสฺส ฉายาย…….=…ร่มไม้ใด
นิสีเทยฺย สเยยฺย วา………=…อาศัยนอนนั่ง
น ตสฺส สาขํ ภญญฺเชยฺย….=…กิ่งก้านใบบัง อย่าหักอย่าสิน
มิตฺตทุพฺโภ หิ ปาปโก ฯ….=…คนไม่รู้คุณแผ่นดิน เลวบัดซบ.
ด้วยประการฉะนี้
บาลีวันละคำ (313)
20-3-56
ทุรฺพฺพ, ทุรฺพฺพี (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)
ธ. เบียดเบียน, บีฑา, ทำบาดเจ็บ, ฆ่า
ทรพี ๑
[ทอระ-] น. เครื่องตักข้าวและแกงมีรูปร่างคล้ายช้อน แต่ใหญ่กว่า ทําด้วยทองเหลืองเป็นต้น, ทัพพี ก็ว่า. (ส. ทรฺวี; ป. ทพฺพิ).
ทรพี ๒
[ทอระ-] น. เรียกลูกที่ไม่รู้คุณพ่อแม่ว่า ลูกทรพี.ว. เนรคุณถึงประทุษร้ายพ่อแม่.
ทัพพี
น. เครื่องตักข้าวและแกงมีรูปร่างคล้ายช้อน แต่ใหญ่กว่า ทําด้วยทองเหลืองเป็นต้น, ทรพี ก็ว่า. (ป. ทพฺพิ; ส. ทรฺวี).
ทุพฺภ (บาลี-อังกฤษ)
หลอกลวง, ทำให้เจ็บ, พยายามประทุษร้าย
ทุพฺภก
ไว้ใจไม่ได้, มีเล่ห์กระเท่ห์, ทรยศ, คดโกง
ทุพฺภี
พยายามทำให้เสียหาย, หลอกลวง, ผู้หลอกลวง, หน้าไหว้หลังหลอก หรือพูดกับทำไม่ตรงกัน