ปริเทวนา ไม่ใช่ “ปริเวทนา” (บาลีวันละคำ 2413)
ปริเทวนา ไม่ใช่ “ปริเวทนา”
ใช้แทนกันไม่ได้
(๑) “ปริเทวนา” (–เท-วะ-นา ไม่ใช่ –เว-ทะ-นา)
“ปริเทวนา” อ่านว่า ปะ-ริ-เท-วะ-นา คำเดิมคือ “ปริเทวน” (ปะ-ริ-เท-วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ปริ (แทนศัพท์ “ปุนปฺปุนํ” = บ่อยๆ, ร่ำไร) + ทิวุ (ธาตุ = ร้อง) ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(วุ) เป็น เอ (ทิวุ > เทวุ), ลบสระที่สุดธาตุ (ทิวุ > ทิว)
: ปริ + ทิวุ = ปริทิวุ > ปริเทวุ > ปริเทว + ยุ > อน = ปริเทวน แปลตามศัพท์ว่า “การร้องบ่อยๆ” หมายถึง การแสดงความเศร้าโศก, การคร่ำครวญ, การร่ำไรรำพัน (lamentation, wailing)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปริเทวนะ, ปริเทวะ : (คำนาม) ความครํ่าครวญ, ความรําพันด้วยเสียใจ, ความบ่นเพ้อ. (ป.).”
ในภาษาบาลี ปริเทวน + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “ปริเทวนา” ก็ได้
(๒) “ปริเวทนา” (– เว-ทะ-นา)
ไม่มีคำนี้ในบาลี มีแต่คำว่า “เวทนา” (เว-ทะ-นา) รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้, รู้อารมณ์) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ (ที่ วิทฺ) เป็น เอ, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิทฺ > เวท + ยุ > อน = เวทน + อา = เวทนา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เสวยรสอารมณ์” หมายถึง ความรู้สึก, การออกอาการจากใจ (feeling, sensation)
“เวทนา” เป็นหนึ่งในห้าของธรรมชาติที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิตมนุษย์ ที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” (the Five Groups of Existence; Five Aggregates) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เวทนา” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) เวทนา ๑ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกทุกข์สุข, (เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ); ความเจ็บปวด, ทุกข์ทรมาน. (ป., ส.).
(2) เวทนา ๒ : (คำกริยา) สังเวชสลดใจ เช่น เรามักเวทนาผู้เคราะห์ร้าย เด็กคนนี้น่าเวทนา.
ขอย้ำว่า ในบาลีมีคำว่า “เวทนา” ดังที่แสดงมานี้ แต่ไม่พบคำว่า “ปริเวทนา” (ปริ + เวทนา)
ในภาษาไทย เราคุ้นกับคำว่า “เวทนา” เมื่อเห็นคำว่า “ปริเทวนา” (เท-วะ-นา ไม่ใช่ เว-ทะ-นา) หรือ “ปริเทวนาการ” (อาการคือความครํ่าครวญ) ไม่ทันได้สังเกต เราจึงมักเข้าใจ “-เทวนา-” เป็น “-เวทนา-” จึงทำให้เขียนหรือพูดผิดเป็น “ปริเวทนา” หรือ “ปริเวทนาการ” ซึ่งไม่มีคำเช่นนี้ในภาษาบาลี
“ปริเทวนา” (–เท-วะ–) – ถูก
“ปริเวทนา” (–เว-ทะ–) – ผิด
“เวทนา” (เว-ทะ–) รูปคำแบบนี้มี
“ปริ-” นำหน้า เป็น “ปริเวทนา” แบบนี้ไม่มี
ถ้ามี “ปริ-” นำหน้า ต้องเป็น “ปริเทวนา” (–เท-วะ-นา ไม่ใช่ –เว-ทะ-นา)
ภาษาบาลีมีคำว่า “เวทนา” เฉยๆ ไม่มีคำว่า “ปริเวทนา” ระวัง อย่าสับสน
“เวทนา” (feeling, sensation) กับ “ปริเทวนา” (lamentation, wailing) เป็นคนละคำกัน ความหมายก็ต่างกันมาก ใช้แทนกันไม่ได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำที่คล้ายกันถึงเพียงนี้ยังใช้แทนกันไม่ได้ทุกศัพท์
: ศาสนาที่มีหลักคำสอนแตกต่างกันอย่างลิบลับ-
จะใช้แทนกันได้อย่างไร?
#บาลีวันละคำ (2,413)
20-1-62