มัททวะ-ข้อ 5 ในทศพิธราชธรรม (บาลีวันละคำ 1,634)
มัททวะ-ข้อ 5 ในทศพิธราชธรรม
………………………………………
“ทศพิธราชธรรม” (ทด-สะ-พิด-ราด-ชะ-ทำ)
บาลีเป็น “ทสวิธราชธมฺม” (ทะ-สะ-วิ-ทะ-รา-ชะ-ทำ-มะ)
ทส = สิบ (จำนวนสิบ)
วิธ = มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ
ราช = พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองบ้านเมือง
ธมฺม = หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ
“ทสวิธ” แปลว่า “มีสิบอย่าง” (tenfold)
“ราชธมฺม” แปลว่า “ราชธรรมหรือหลักของการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”, คือ กฎของการปกครอง, แบบแผนของความเป็นกษัตริย์ (“king’s rule,” i. e. rule of governing, norm of kingship)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ราชธรรม 10 บอกความหมายไว้ว่า –
“ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง (Rājadhamma: virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler).”
“ทสวิธราชธมฺม – ทศพิธราชธรรม” ประกอบด้วย – 1 ทาน 2 ศีล 3 ปริจจาคะ 4 อาชชวะ 5 มัททวะ 6 ตบะ 7 อักโกธะ 8 อวิหิงสา 9 ขันติ 10 อวิโรธนะ
………………………………………
“มัททวะ” เขียนแบบบาลีเป็น “มทฺทว” (มัด-ทะ-วะ) รากศัพท์มาจาก มุทุ + ณฺย ปัจจัย
(๑) “มุทุ” รากศัพท์มาจาก มุทฺ (ธาตุ = ยินดี) + อุ ปัจจัย
: มุทฺ + อุ = มุทุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยินดี” “สิ่งอันคนยินดี”
“มุทุ” หมายถึง นุ่ม, ไม่แข็ง, อ่อน, อ่อนโยน (soft, mild, weak, tender)
บาลี “มุทุ” สันสกฤตเป็น “มฤทุ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“มฤทุ : (คำคุณศัพท์) อ่อน, นุ่ม; เย็น; สถูล; ขี้เท่อ; โกมล; กัลยาณ; soft; cool; blunt; gentle, mild.”
(๒) มุทุ + ณฺย ปัจจัย, แปลง มุ-(ทุ) เป็น มทฺ (มุทุ > มทฺทุ), แผลง อุ ที่ (มุ)-ทุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (มุทุ > มุโท > มุทว), ลบ ณฺย
: มุทุ + ณฺย = มุทุณฺย > มุทุ > มทฺทุ > มทฺโท > มทฺทว (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้ที่ยินดี” “ความเป็นผู้อันคนยินดี” หมายถึง ความอ่อน, ความนุ่ม, ความสุภาพ (mildness, softness, gentleness)
“มทฺทว” ในที่นี้เขียนตามบาลีเป็น “มัททวะ” อ่านว่า มัด-ทะ-วะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “มัททวะ” ไว้ว่า –
“มัททวะ : ความอ่อนโยน, ความนุ่มนวล, ความละมุนละไม (ข้อ ๕ ในราชธรรม ๑๐).”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มัททวะ : คำนาม) ความอ่อนโยน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม).”
……………
ความหมายเฉพาะของ “มัททวะ” ข้อ 5 ในทศพิธราชธรรม :
คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 8 อันเป็นคัมภีร์ที่อธิบายมหาหังสชาดกซึ่งเป็นที่มาของหลักทศพิธราชธรรม หน้า 283 ไขความคำว่า “มัททวะ” ไว้ว่า –
“มุทุภาโว มทฺทวํ”
แปลว่า “ความเป็นผู้อ่อนโยน ชื่อว่า มัททวะ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความไว้ว่า –
“มัททวะ (ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง —Maddava: kindness and gentleness).”
……………
ดูก่อนภราดา!
: นักปกครองที่กระด้างกักขฬะ คือขยะของประชาชน
: นักปกครองที่อ่อนน้อมถ่อมตน คือดอกไม้ที่บานอยู่ในหัวใจประชา
24-11-59