บาลีวันละคำ

สุภาพสตรี (บาลีวันละคำ 1,778)

สุภาพสตรี

ระวังจะมีแต่ในรูปภาพ

อ่านว่า สุ-พาบ-สัด-ตฺรี

ประกอบด้วย สุภาพ + สตรี

(๑) “สุภาพ

แปลงกลับเป็นบาลีว่า “สุภาว” (สุ-พา-วะ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย, สะดวก) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว

: สุ + ภู = สุภู + = สุภูณ > สุภู > สุโภ > สุภาว แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ดีงาม

สุภาว แปลง เป็น : สุภาว > สุภาพ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุภาพ : (คำวิเศษณ์) เรียบร้อย เช่น เขาแต่งกายสุภาพตามกาลเทศะและความนิยม, อ่อนโยน, ละมุนละม่อม, เช่น เขาพูดด้วยน้ำเสียงสุภาพ ไม่กระโชกโฮกฮาก.”

สุภาพ” เป็นบาลีไทย คือรูปคำเป็นบาลี แต่ความหมายเป็นของไทยคิดขึ้นเอง ความหมายตามภาษาไทยนี้ บาลีไม่ได้ใช้คำว่า “สุภาว” แต่ใช้คำว่า “อาจารสีลี” หรือ “อาจารสมฺปนฺน” (มีกิริยามารยาทเรียบร้อย) หรือ “สุสีล” (ความประพฤติเรียบร้อยงดงาม)

(๒) “สตรี

บาลีเป็น “อิตฺถี” (อิด-ถี) รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา, ชอบใจ) + ถี ปัจจัย, แปลง สฺ เป็น ตฺ, นัยหนึ่งลง ตฺถี ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (อิสฺ > อิ)

: (1) อิสฺ + ถี = อิสฺถี > อิตฺถี

: (2) อิสฺ + ตฺถี = อิสฺตฺถี > อิตฺถี

อิตฺถี” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ปรารถนาชาย” (2) “ผู้อันชายปรารถนา” (3) “ผู้ทำให้ชายปรารถนา

บาลี “อิตฺถี” สันสกฤตเป็น “สฺตฺรี” ในที่นี้ภาษาไทยใช้เป็น “สตรี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สตรี : (คำนาม) ผู้หญิง, เพศหญิง, คู่กับ บุรุษ, (ใช้ในลักษณะที่สุภาพ). (ส.; ป. อิตฺถี, ถี).”

………….

อภิปรายแทรก :

นักภาษาสันนิษฐานว่าคำว่า “สตรี” อาจมีรากศัพท์มาจาก “สาตุห” ฝรั่งแปลว่า uterus (มดลูก) หรือ “ศี” to sow or produce (หว่าน หรือ ผลิต)

ในภาษาไทยมีคำว่า “ศรี” แปลว่า ผู้หญิง ซึ่งน่าจะเป็นคำเดียวกับ “ศี” ที่ฝรั่งอ้าง แต่พจนานุกรมฯ บอกเหมือนจะให้เข้าใจว่า “ศรี” มาจากคำเขมรว่า “สี

ในภาษาไทยยังมีคำว่า “อิสตรี” และ “อิสัตรี” หมายถึง ผู้หญิง

ดูตามรูปแล้ว “อิสตรี” หรือ “อิสัตรี” เหมาะที่จะเป็นสันสกฤต คือ “อิตฺถี” ในบาลีเป็น “อิสฺตรี” ในสันสกฤต

แต่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีแต่ “สฺตรี” ไม่มี “อิสฺตรี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็บอกว่า “itthi & Itthī” ในบาลี เป็น “strī” ในสันสกฤต ไม่มีบอกว่าเป็น “istrī

คงต้องขอแรงผู้เชี่ยวชาญสันสกฤตว่า สันสกฤตมี “อิสฺตรี” ที่แปลว่า ผู้หญิง หรือไม่ ถ้ามีก็ได้คำตอบ แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องสืบหากันต่อไปว่า “อิสตรี” หรือ “อิสัตรี” มาจากภาษาอะไร หรือว่าเป็นสันสกฤตปลอม?

สุภาพ + สตรี = สุภาพสตรี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุภาพสตรี : (คำนาม) หญิงที่มีกิริยาวาจาเรียบร้อย รู้กาลเทศะ และมีคุณธรรม เช่น ท่าทางเธอเรียบร้อยสมเป็นสุภาพสตรี.”

เป็นที่เข้าใจกันว่า “สุภาพสตรี” ภาษาอังกฤษใช้ว่า lady

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล lady เป็นบาลีว่า –

(1) ayyā อยฺยา (ไอ-ยา) = เจ้านาย, นายท่าน

(2) sāminī สามินี (สา-มิ-นี) = นายหญิง, ตรงกับคำที่นิยมเรียกภรรยานายทหารผู้ใหญ่หรือภรรยาข้าราชผู้ใหญ่ว่า “คุณนาย”

(3) kulitthī กุลิตฺถี (กุ-ลิด-ถี) = หญิงมีสกุลรุนชาติ, หญิงผู้ดี

คำว่า “สุภาพสตรี” ยังสื่อความหมายไปถึงการรู้จักรักนวลสงวนตัว รักษาเกียรติ มีความรับผิดชอบ มีรสนิยมที่ดี และที่สำคัญ-ไม่ก๋ากั่นเกินเพศ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หญิงที่ไม่สุภาพ

: โปรดทราบว่า-ไม่ใช่สตรี

19-4-60