บาลีวันละคำ

ตบะ-ข้อ 6 ในทศพิธราชธรรม (บาลีวันละคำ 1,635)

ตบะ-ข้อ 6 ในทศพิธราชธรรม

………………………………………

ทศพิธราชธรรม” (ทด-สะ-พิด-ราด-ชะ-ทำ)

บาลีเป็น “ทสวิธราชธมฺม” (ทะ-สะ-วิ-ทะ-รา-ชะ-ทำ-มะ)

ทส = สิบ (จำนวนสิบ)

วิธ = มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ

ราช = พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองบ้านเมือง

ธมฺม = หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ

ทสวิธ” แปลว่า “มีสิบอย่าง” (tenfold)

ราชธมฺม” แปลว่า “ราชธรรมหรือหลักของการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”, คือ กฎของการปกครอง, แบบแผนของความเป็นกษัตริย์ (“king’s rule,” i. e. rule of governing, norm of kingship)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ราชธรรม 10 บอกความหมายไว้ว่า –

“ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง (Rājadhamma: virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler).”

ทสวิธราชธมฺม – ทศพิธราชธรรม” ประกอบด้วย – 1 ทาน 2 ศีล 3 ปริจจาคะ 4 อาชชวะ 5 มัททวะ 6 ตบะ 7 อักโกธะ 8 อวิหิงสา 9 ขันติ 10 อวิโรธนะ

………………………………………

ตบะ” บาลีเป็น “ตป” อ่านว่า ตะ-ปะ รากศัพท์มาจาก ตปฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ร้อน) + ปัจจัย

: ตปฺ + = ตป แปลตามศัพท์ว่า (1) “การทำให้กายเดือดร้อน” (2) “ธรรมที่เผาบาป” (3) “ธรรมที่ยังกิเลสให้ร้อน” (4) “ข้อปฏิบัติที่ยังตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนในนรก” (ความหมายข้อนี้เป็นทัศนะของพระพุทธศาสนาที่มองการบำเพ็ญตบะแบบผิดๆ ของเจ้าลัทธิต่างๆ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตป” ว่า –

(1) torment, punishment, penance, esp. religious austerity, self-chastisement, ascetic practice (การทรมาน, การลงโทษ, การทรมานตน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทรมานตนทางศาสนา, การลงโทษตัวเอง, การปฏิบัติของนักพรต)

(2) mental devotion, self-control, abstinence, practice of morality (การภาวนาทางใจ, การควบคุมตัวเอง, การละเว้น, การปฏิบัติศีลธรรม)

ตป” หมายถึงอะไรได้บ้าง ขึ้นอยู่กับบริบท :

1 การเรียนพระพุทธพจน์ ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความเห็นผิด

2 ความอดทนอดกลั้น ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความผลุนผลัน

3 ศีล ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความมือไวใจเร็ว

4 ธุดงค์ (การขัดเกลาตนเองให้ต้องการแต่น้อย) ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความละโมบ

5 การสำรวมอินทรีย์ (ควบคุมอารมณ์ชอบ-ชัง) ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาการจ้องจะเอาและความขุ่นใจ

6 วิริยะ (ความเพียร) ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความเกียจคร้าน

บาลี “ตป” รูปหนึ่งของสันสกฤตก็เป็น “ตป

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตป : (คำนาม) ‘ตะบะ,’ ฤดูร้อน; ความร้อน; แดด, อาทิตย์; summer, the hot season; heat; the sun.”

แต่สันสกฤตยังมี “ตปสฺ” อีกรูปหนึ่ง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตปสฺ : (คำนาม) ‘ตบัส,’ ชื่อเดือนมาฆะ; ฤดูหนาว; ฤดูร้อน; การประติบัทเคร่งครัดตามลัทธิศาสนา; การหัดระงับใจหรือกาย; โลกอันเปนที่อาศรัยของบุณยชนหรือดาบสเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว (โลกที่กล่าวถึงนี้ตั้งอยู่เหนือชนโลก); สทาจาร, สาธุคุณ; ธรรม, กฤตย์; การประติบัทฉะเพาะ, ปรากฤตว่า-น่าที่ (ดุจ-ตบัสของพราหมณ์ ได้แก่ บุณยศึกษาหรือการเล่าเรียนพระเวทที่ศักดิ์สิทธิ์; ตบัสของกษัตริย์ ได้แก่ การคุ้มครองรักษาไพร่ฟ้าประชาชน; ตบัสของไวศย ได้แก่ การทำบุณย์ให้ทานแก่พราหมณ์; ตบัสของศูทร ได้แก่ การรับใช้คนร่วมชาติกัน; ตบัสของฤษิหรือมุนิ ได้แก่ การกินผักและภักษมูลเปนอาหาร); the name of the month Māgha; winter or the cold season; summer or the hot season; religious austerity; the practice of mental or personal self-denial; the world of the saints or devotees, said to be inhabited by them after death (this world is situated above the Janaloka); virtue, moral merit; duty, the special observance of certain things (such as-the tapas of a Brahman is sacred learning; that of a Kshatriya, the protection of subjects; that of a Viśya, alms-giving to Brahmans; that of a Śudra, the service of the same tribe; and that of a Rishi or saint, feeding upon herbs and roots).”

โปรดสังเกตว่า “ตปสฺ” ของสันสกฤตมีความหมายที่ชี้ชัดว่า “ตบัสของกษัตริย์ ได้แก่ การคุ้มครองรักษาไพร่ฟ้าประชาชน (that of a Kshatriya, the protection of subjects).”

ตป” ในภาษาไทยใช้ว่า “ตบะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตบะ : (คำนาม) พิธีข่มกิเลสโดยทรมานตัว เช่น ฤๅษีบำเพ็ญตบะ; การบำเพ็ญเพื่อให้กิเลสเบาบางหรือการข่มกิเลส, ธรรมข้อที่ ๖ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม). (ป., ส. ตป ว่า ความเพียรเครื่องเผาผลาญกิเลส).”

……………

ความหมายเฉพาะของ “ตบะ” ข้อ 6 ในทศพิธราชธรรม :

คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 8 อันเป็นคัมภีร์ที่อธิบายมหาหังสชาดกซึ่งเป็นที่มาของหลักทศพิธราชธรรม หน้า 282 ไขความคำว่า “ตบะ” ไว้ว่า –

อุโปสถกมฺมํ  ตโป

แปลว่า “กรรมคือการรักษาอุโบสถศีล ชื่อว่า ตบะ

อรรถกถาอีกแห่งหนึ่ง (อ้างในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค 2 หน้า 366) บอกว่า –

(1) “ตโปติ  อินฺทฺริยสํวราทิ

แปลว่า “กิจมีการสำรวมอินทรีย์เป็นต้น ชื่อว่า ตบะ

(2) “ตโป  นาม  ปาปตาปนโก  ธมฺโม

แปลว่า “ธรรมเป็นเครื่องเผาผลาญบาป ชื่อว่า ตบะ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความไว้ว่า –

ตปะ (ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์ — Tapa: austerity; self-control; non-indulgence).”

……………

ดูก่อนภราดา!

: ผู้ปกครองที่อุบาทว์ ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส

: ผู้ปกครองที่วิเศษ สามารถเผากิเลสของตัวเอง

25-11-59