บาลีวันละคำ

สมมติเทพ-หนึ่งในเทพ 3 (บาลีวันละคำ 1,640)

สมมติเทพ-หนึ่งในเทพ 3

………………………………………

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [82] แสดงเรื่อง “เทพ 3” ไว้ดังนี้ –

เทพ 3 : (เทพเจ้า, เทวดา — Deva: gods; divine beings)

1. สมมติเทพ (เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระเทวี และพระราชกุมาร — Sammati-deva: gods by convention)

2. อุปปัตติเทพ (เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาในกามาวจรสวรรค์ และพรหมทั้งหลายเป็นต้น — Upapatti-deva: gods by rebirth)

3. วิสุทธิเทพ (เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย — Visuddhi-deva: gods by purification)

………………………………………

สมมติเทพ

อ่านว่า สม-มด-ติ-เทบ

ประกอบด้วย สมมติ + เทพ

(๑) “สมมติ

บาลีเป็น “สมฺมติ” อ่านว่า สำ-มะ-ติ รากศัพท์มาจาก สํ + มติ

ก) “สํ” (สัง)

เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)

ข) “มติ” รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบ ที่สุดธาตุ (มนฺ > )

: มนฺ > + ติ = มติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หมายถึง

จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา (mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for)

สํ + มติ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)

: สํ > สมฺ + มติ = สมฺมติ แปลตามศัพท์ว่า “การรู้พร้อมกัน” คือ รับรู้ร่วมกัน, ยอมรับร่วมกัน

คำว่า “สมฺมติ” อาจมีรูปคำเป็น “สมฺมต” (สำ-มะ-ตะ) หรือ “สมฺมุติ” (สำ-มุ-ติ) ได้อีก มีความหมายในทำนองเดียวกัน

ในภาษาไทย คำที่ใช้ในความหมายเดียวกันนี้มีหลายรูปคำ (ตาม พจน.54) คือ –

สมมต (สม-มด)

สมมติ (สม-มด)

สมมติ– (สม-มด-ติ-) (มีคำอื่นต่อท้าย)

สมมุติ (สม-มุด)

สมมุติ– (สม-มุด-ติ-) (มีคำอื่นต่อท้าย)

อย่างไรก็ตาม เสียงที่ได้ยินพูดกันมากที่สุดคือ สม-มุด = สมมุติ

สมมต, สมมติ, สมมุติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) (คำกริยา) รู้สึกนึกเอาว่า เช่น สมมุติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง.

(2) (คำสันธาน) ต่างว่า, ถือเอาว่า เช่น สมมุติว่าได้มรดกสิบล้าน จะบริจาคช่วยคนยากจน สมมุติว่าถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ ๑ จะไปเที่ยวรอบโลก.

(3) (คำวิเศษณ์) ที่ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง เช่น สมมุติเทพ.

(๒) “เทพ

บาลีเป็น “เทว” (เท-วะ) รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)

สมฺมติ + เทว = สมฺมติเทว

ในภาษาไทย แผลง เป็น : สมฺมติเทว = สมมติเทพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมมติเทพ : (คำนาม) เทวดาโดยสมมติ หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน.”

…………..

มีคาถาบทหนึ่ง ความว่า –

หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา

สุกฺกธมฺมสมาหิตา

สนฺโต  สปฺปุริสา  โลเก

เทวธมฺมาติ  วุจฺจเร.

สัปบุรุษผู้สงบระงับ

ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ

ตั้งมั่นอยู่ในธรรมฝ่ายขาว

ท่านเรียกว่า “ผู้มีเทวธรรม” ในโลก.

ที่มา: เทวธรรมชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 6

เทวธรรม” แปลว่า ธรรมที่ทำให้คนเป็นเทพ มี 2 อย่าง คือ –

1. หิริ : ความละอายบาป, ละอายใจต่อการทำความชั่ว (Hiri: moral shame; conscience)

2. โอตตัปปะ : ความกลัวบาป, เกรงกลัวต่อความชั่ว (Ottappa: moral dread)

(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [23])

…………..

: ถ้าสมบูรณ์ด้วยหิริโอตัปปะ

: แม้มิใช่ขัตติยะ ก็เป็น “เทวะ” ได้ทันที

30-11-59