บาลีวันละคำ

สังฆกรรม [2] (บาลีวันละคำ 890)

สังฆกรรม [2]

อ่านว่า สัง-คะ-กำ

บาลีเป็น “สงฺฆกมฺม” อ่านว่า สัง-คะ-กำ-มะ

ประกอบด้วย สงฺฆ + กมฺม

สงฺฆ” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” (2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน

(ดูเพิ่มเติมที่ “สงฆ์” บาลีวันละคำ (884) 19-10-57)

ในที่นี้ สงฺฆ หมายถึง หมู่แห่งภิกษุ หรือภิกษุที่อยู่รวมกันเป็นหมู่

กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม ปัจจัย

กระบวนการทางไวยากรณ์คือ (1) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ : กรฺ > ก- (2) ลบ ที่ปัจจัย : รมฺม > -มฺม

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ

บาลี “กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” และนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม” โดยไม่ต้องแปล

กรรม” ในแง่ความหมาย

(1) การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม

(2) การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

(3) การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

(4) พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

สงฺฆ + กมฺม = สงฺฆกมฺม > สังฆกรรม แปลตามตัวว่า “การงานของสงฆ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังฆกรรม : (คำนาม) กิจที่พระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปรวมกันทําภายในสีมา เช่น การทำอุโบสถ การสวดพระปาติโมกข์. (ส. สํฆ + กรฺมนฺ; ป. สงฺฆกมฺม).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆกมฺม” ว่า an act or ceremony performed by a chapter of bhikkhus assembled in solemn conclave (สังฆกรรม, พิธีกรรมที่หมู่สงฆ์ทำในที่ประชุมสงฆ์)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สังฆกรรม : งานของสงฆ์, กรรมที่สงฆ์พึงทำ, กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์ มี 4 คือ

1 อปโลกนกรรม กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ

2 ญัตติกรรม กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น อุโบสถและปวารณา

3 ญัตติทุติยกรรม กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น สมมติสีมา ให้ผ้ากฐิน

4 ญัตติจตุตถกรรม กรรมที่ทำด้วยการตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา 3 หน เช่น อุปสมบท ให้ปริวาส ให้มานัต

หลักการของสังฆกรรมที่ควรทราบ :

(1) จะเป็นสังฆกรรมได้ ต้องมีการประชุมภิกษุ

(2) ภิกษุผู้เข้าร่วมประชุมต้องครบจำนวนตามข้อกำหนดของ “กรรม” นั้นๆ จำนวนต่ำสุดที่กำหนดไว้คือไม่น้อยกว่า 4 รูป บางกรรมต้องไม่น้อยกว่า 5 รูป บางกรรมต้องไม่น้อยกว่า 10 รูป และบางกรรมต้องไม่น้อยกว่า 20 รูป

(3) ต้องประชุมกันในสถานที่ที่เรียกว่า “สีมา” คือเขตที่กำหนดขึ้นไว้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ คนไทยรู้จักสถานที่ดังกล่าวนี้ในนาม “โบสถ์” หรือ “อุโบสถ” โบสถ์หรืออุโบสถนั่นเองคือสถานที่ประชุมเพื่อทำสังฆกรรม สังฆกรรมทุกชนิด (ยกเว้นอปโลกนกรรม) ต้องทำในเขตโบสถ์ จะไปประชุมกันที่ไหนๆ ตามใจชอบไม่ได้

(4) ภิกษุผู้เข้าประชุมต้องนั่งรวมกันในระยะที่กำหนดที่เรียกว่า “หัตถบาส” (แปลว่า “บ่วงมือ” คือระยะยื่นมือถึงกัน) และต้องไม่มีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่ในระยะที่กำหนดนั้นด้วย

(5) บุคคลหรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุให้ต้องทำสังฆกรรมนั้นๆ ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้อง เช่น สังฆกรรมอุปสมบท (บวชพระ) ผู้บวชต้องมีอายุครบ ๒๐ ปีเป็นต้น สังฆกรรมกฐิน ผ้ากฐินต้องได้มาโดยบริสุทธิ์ เช่นไม่ใช่ไปบอกให้เขานำมาถวายเป็นต้น

สังฆกรรมเป็นเรื่องของสงฆ์ แต่ถ้าจับหลักไม่ตรงก็เลอะเลือนได้

เช่นสังฆกรรมกฐินกับบุญกฐิน

ผ้ากฐินเมื่อถึงมือสงฆ์แล้วเป็นสังฆกรรม เป็นเรื่องของสงฆ์คือภิกษุเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน หรือแม้แต่กับสามเณร และไม่เกี่ยวกับว่าทอดกฐินได้เงินเท่าไร

แต่การเตรียมการเพื่อถวายผ้ากฐิน การบอกบุญ หรือเรียกรวมว่า “บุญกฐิน” ไม่ใช่สังฆกรรม แต่ถึงกระนั้นผู้ทำบุญกฐินก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับสังฆกรรมกฐินด้วย เช่นจะถวายกฐินได้ตั้งแต่วันไหนถึงวันไหนเป็นต้น

เมื่อจับหลักได้ดังนี้ แม้จะมีผู้ให้ความสนใจว่าทอดกฐินได้เงินเท่าไรโดยที่แทบจะไม่สนใจตัวผ้ากฐินเลย ก็จะได้รู้ทันว่าอะไรเป็นเปลือกอะไรเป็นแก่น และตราบใดที่ยังจับหลักได้ถูกต้องมั่นคงเช่นนี้ ตราบนั้นทั้งสังฆกรรมและบุญอันเนื่องมาแต่สังฆกรรมนั้นก็จะดำเนินควบคู่กันไปได้และอำนวยประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ด้วยดี

สังฆกรรมไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนาที่ทำเพื่อความศักดิ์สิทธิ์

แต่สังฆกรรมคือการทำกิจทางศาสนาเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ในภาษาไทยมีสำนวนพูดว่า “ร่วมสังฆกรรม” เช่น :

ทำแบบนี้ผมร่วมสังฆกรรมด้วยไม่ได้” หมายความว่า ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้ร่วมงานและไม่ต้องการจะร่วมงานกันต่อไป

: ร่วมสังฆกรรมอย่างมีอุดมการณ์ คือต้องทำงานเพื่อส่วนรวม

#บาลีวันละคำ (890)

25-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *