บาลีวันละคำ

อัญมณี (บาลีวันละคำ 891)

อัญมณี

อ่านว่า อัน-ยะ-มะ-นี

ประกอบด้วย อัญ + มณี

“อัญ” บาลีเป็น “อญฺญ” (อัน-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาไม่รู้” หมายถึง –

(1) อื่น, ไม่เหมือนกัน, ต่างกัน, อันอื่น, คนอื่น (other, not the same, different, another, somebody else)

(2) อีกอันหนึ่ง, ที่สอง; อื่นอีก, ต่อไป (another one, a second; else, further)

“มณี” บาลีเป็น “มณิ” (ภาษาไทยสระ อี บาลีสระ อิ แต่ที่เป็น “มณี” เหมือนในภาษาไทยก็มีบ้าง) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่ให้รู้ถึงความมีค่ามาก” (หมายถึงเป็นของที่มีค่ามาก)

(2) “สิ่งที่เป็นเหตุให้นับถือเครื่องอาภรณ์” (หมายถึงทำให้เครื่องประดับมีคุณค่า)

(3) “สิ่งที่ยังความมืดให้พินาศไป” (ธรรมชาติของมณีจะมีแสงในตัว)

ความหมายที่รู้กันคือ แก้วมณี, รัตนะ, เพชรพลอย (a gem, jewel)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อัญ-, อัญญะ [อันยะ-] (คำวิเศษณ์) อื่น, ต่างไป, แปลกไป. (ป. อญฺญ; ส. อนฺย).

(2) มณี (คำนาม) แก้วหินมีค่าสีแดง ในจําพวกนพรัตน์ มักหมายถึงทับทิม. (ป., ส. มณิ).

อญฺญ + มณิ = อญฺญมณิ แปลตามศัพท์ว่า “แก้วมณีอื่น”

อญฺญ และ มณิ เป็นภาษาบาลี แต่คำที่รวมเป็น “อญฺญมณิ” หรือ “อญฺญมณี” ไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์ จึงน่าจะเป็นศัพท์ที่ผูกขึ้นใช้ตามความหมายของไทย

อญฺญ + มณิ = อญฺญมณิ เขียนในภาษาไทยเป็น “อัญมณี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) รัตนชาติที่เจียระไนแล้ว,

(2) แก้วมณีอื่น ๆ นอกจากเพชรพลอย.

(3) (คำโบราณ) ของมีค่าอื่น ๆ เช่น มันผู้หนึ่งล้อมไว้เป็นไร่เป็นสวนมัน มันได้ปลูกสรรพอัญมณีในที่นั้นไว้ ให้ลดอากรไว้แก่มันปีหนึ่ง. (กฎหมายตราสามดวง).

แสดงว่าความหมายเดิมของคำนี้ก็คือ “ของมีค่าอื่น ๆ” :

อัญ = อื่นๆ

มณี = ของมีค่า

เคยได้พบคำอธิบายในที่หนึ่งสอดคล้องกับความหมายใน พจน.54 กล่าวคือ “อัญมณี” เป็นภาษากฎหมาย ตามความหมายเดิมท่านว่า หมายถึงทรัพย์สิ่งมีค่าอื่นๆ ที่เกิดมีหรือติดอยู่กับที่ดิน เช่น ไม้ผลไม้ดอกที่ขึ้นอยู่หรือปลูกไว้ในที่ดิน บ่อน้ำ สระน้ำ อันมีอยู่ในที่ดินนั้น เมื่อจะซื้อขายที่ดินแปลงนั้น ท่านมีกฎเกณฑ์ว่าจะตีราคาที่ดินนั้นอย่างไร เช่นคิดเฉพาะราคาที่ดิน จะเอาของมีค่าอื่นๆ (คือ “อัญมณี”) อันติดที่ดินอยู่นั้นมาคิดราคารวมด้วยได้หรือไม่-อย่างนี้เป็นต้น

ปัจจุบันเข้าใจกันแต่เพียงว่า อัญมณีคือเพชรพลอย

ไม่มีใครระลึกถึงความหมายเดิม

: จะใช้คำ อย่าละเลยการสืบค้น

: จะคบคน อย่าลืมเรียนรู้นิสัยเดิม

#บาลีวันละคำ (891)

26-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *