บาลีวันละคำ

ชมพูทวีป(บาลีวันละคำ 899)

ชมพูทวีป

อ่านว่า ชม-พู-ทฺวีบ

ประกอบด้วย ชมพู + ทวีป

(๑) “ชมพู

บาลีเป็น “ชมฺพุ” (ชำ-พุ) (เป็น ชมฺพู ก็มี) เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง ชื่อนี้แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่เกิดตามปกติ” ซึ่งไม่ช่วยให้เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้น และแปลว่า “ผลไม้อันเขากิน” คือผลไม้ที่กินได้ ช่วยให้รู้เพิ่มขึ้นนิดหนึ่งว่า “ชมฺพุ” เป็นไม้ที่ผลกินได้

คำแปลทั่วไปในภาษาไทยนิยมแปล “ชมฺพุ” ว่า ต้นหว้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ชมฺพุ” ว่า the rose-apple tree, Eugenia Jambolana (ต้นชมพู่, ต้นหว้า)

สรุปตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ว่า –

(1) ชมพู่ เป็นไม้ต้นขนาดกลางในสกุล Syzygium วงศ์ Myrtaceae ผลกินได้

(2) หว้า เป็นไม้ใหญ่ชนิด Syzygium eumini (L.) Skeels. ในวงศ์ Myrtaceae ผลสุกสีม่วงดํา กินได้

น่าแปลกที่ต้นไม้ที่เราเห็นว่าเป็นไม้คนละชนิดกัน แต่ในทางพฤกษศาสตร์กลับเป็นไม้ในสกุลวงศ์เดียวกัน

เพราะฉะนั้น “ชมฺพุ” จะแปลว่า ชมพู่ หรือ หว้า ก็ถูกทั้งนั้น แต่ดูตามบริบทแล้ว ในคำว่า “ชมฺพุทีป” นี้ “ชมฺพุ” เหมาะที่จะเป็นไม้หว้ามากกว่าชมพู่ที่เรารู้จักกัน

(๒) “ทวีป

บาลีเป็น “ทีป” แปลตามศัพท์ว่า (1) “พื้นที่ที่น้ำแยกออกเป็นสองทาง” (2) “พื้นที่เป็นที่ไหลสองทางแห่งน้ำ” (3) “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่กลางน้ำ

ทีป” ในความหมายนี้หมายถึง เกาะ, ทวีป, พื้นดิน, ดินแข็ง, ฐานที่มั่นคง, สถานที่สำหรับอาศัย, สรณะ, ที่พึ่ง (an island, continent; terra firma, solid foundation, resting-place, shelter, refuge)

(ดูเพิ่มเติมที่ “ทีป” บาลีวันละคำ (93) 9-8-55)

ชมฺพุ + ทีป = ชมฺพุทีป > ชมพูทวีป แปลตามศัพท์ว่า “ทวีปที่กำหนดชื่อด้วยต้นหว้า หรือมีต้นหว้าเป็นหลักเพราะเป็นต้นไม้ที่ดำรงอยู่ได้ชั่วกัป” (ชมฺพุยา ลกฺขิโต กปฺปฏฺฐายิตาทิปฺปภาเวน วา ตปฺปธาโน ทีโปติ ชมฺพุทีโป)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ชมฺพุทีป” ว่า the country of the rose-apples i. e. India (ดินแดนแห่งชมพู่ คือ อินเดีย)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชมพูทวีป : (คำแบบ) (คำนาม) ดินแดนที่เป็นประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาล และบังกลาเทศในปัจจุบัน; ทวีปใหญ่อยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นทวีป ๑ ใน ๔ ทวีป ได้แก่ อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป.”

ในคัมภีร์มีสำนวนที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิว่า “เป็นใหญ่เหนือพื้นปฐพีอันมีสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต” หมายถึงมีอำนาจครอบครองได้หมดทั้ง 4 ทวีป คือหมดทั้งโลกนั่นเอง

: ถึงจะใหญ่คับสี่ทวีป เมื่อล่วงลับดับชีพ ก็เล็กกว่าโลง

—————

(ตามความข้องใจของ Onn Aswmkp)

#บาลีวันละคำ (899)

3-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *