บาลีวันละคำ

บาทบงสุ์ (บาลีวันละคำ 1,644)

บาทบงสุ์

อ่านว่า บาด-ทะ-บง

ประกอบด้วย บาท + บงสุ์

(๑) “บาท

บาลีเป็น “ปาท” (ปา-ทะ) รากศัพท์มาจาก ปท (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (ปทฺ > ปาท)

: ปทฺ + = ปทณ > ปท > ปาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไป

ปาท” ในบาลีใช้ในความหมาย ดังนี้ –

(1) เท้า (the foot)

(2) เชิงเขาหรือส่วนล่างของภูเขา (foot or base of a mountain)

(3) ส่วนหนึ่งในสี่ของคำร้อยกรองหนึ่งบท (ซึ่งตามปกติมีบทละ 4 บาท) (the fourth part of a verse)

(4) เหรียญที่ใช้ในการซื้อขาย (a coin)

ปาท” ในภาษาไทยใช้ว่า “บาท” (บาด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บาท” ไว้ว่า –

(1) ตีน, ราชาศัพท์ว่า พระบาท.

(2) มาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท.

(3) ชื่อมาตราชั่งตามวิธีประเพณี สําหรับกําหนดนํ้าหนักเท่ากับเงินหนัก ๑๕ กรัม.

(4) ส่วนหนึ่งของบทแห่งคําประพันธ์ เช่น โคลง ๔ สุภาพ บทหนึ่งมี ๔ บาท.

(5) ช่วงเวลาเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่วโมง เท่ากับ ๖ นาที.

ในที่นี้ “ปาทบาท” หมายถึง เท้า หรือตีน

(๒) “บงสุ์

บาลีเป็น “ปํสุ” (ปัง-สุ) รากศัพท์มาจาก ปํสฺ (ธาตุ = พินาศ, เสียหาย) + อุ ปัจจัย

: ปํสฺ + อุ = ปํสุ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังของสวยงามให้เสีย” หมายถึง ฝุ่น, ขยะ, สิ่งสกปรก, ดินร่วน (dust, dirt, soil)

ปาท + ปํสุ = ปาทปํสุ แปลตามศัพท์ว่า “ฝุ่นแห่งเท้า

ปาทปํสุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บาทบงสุ์” :

ปาท = บาท

ปํสุ = บงสุ์

โปรดสังเกต : เพราะศัพท์เดิมเป็น “ปํสุ” ในภาษาไทย “บงสุ์” จึงต้องมีสระ อุ ที่ ด้วย (บงสุ์ ไม่ใช่ บงส์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บาทบงสุ์ : ละอองเท้า. (ป. ปาทปํสุ).”

บาทบงสุ์” เป็นคำที่มักใช้ในบทกลอน ไม่ใช้ในคำพูดทั่วไป

ในภาษาไทยมีคำพูดว่า “ละอองธุลีพระบาท” เช่นในคำว่า “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ละอองธุลีพระบาท” แปลมาจาก “บาทบงสุ์” นั่นเอง

…………..

ในวัฒนธรรมไทย เทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้ในฐานะที่สูง เมื่อพสกนิกรจะสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ย่อมใช้อวัยวะที่สูงสุดของตน คือศีรษะ สัมพันธ์กับอวัยวะที่ต่ำสุดของพระมหากษัตริย์ คือพระบาท

แต่แม้ “พระบาท” ก็ยังรู้สึกว่าเป็นของสูงเกินไปสำหรับตน เมื่อมองหาสิ่งที่ต่ำกว่านั้น ก็เห็นแต่ “บาทบงสุ์” คือฝุ่นละอองแห่งพระบาทเท่านั้นที่คู่ควรกับศีรษะของตน จึงเป็นที่มาของคำว่า “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

พร้อมกันนั้น ทั้งพระมหากษัตริย์และพสกนิกรก็มีหลักคุณธรรมสำหรับที่จะประพฤติปฏิบัติต่อกันและกัน จึงทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินอยู่ในครรลองที่ดีงาม นำไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขสืบมา

…………..

: เมื่อมีคุณธรรมนำหน้า

: ละอองดินกับละอองพระบาทฟ้า

: จึ่งสนิทเนื้อเดียวกัน

4-12-59