บาลีวันละคำ

สามสถาบัน (บาลีวันละคำ 1,645)

สามสถาบัน

ในภาษาไทยสมัยใหม่ เมื่อเอ่ยคำว่า “สามสถาบัน” ย่อมเป็นที่รู้กันดีว่าหมายถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันสำคัญของสังคมไทย

ทบทวนศัพท์ :

(๑) “ชาติ

ตรงกับรูปคำบาลีว่า “ชาติ” อ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา (หรือแปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น อา)

: ชน > ชา + ติ = ชาติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด

ชาติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

1 การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

2 ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

3 จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

4 ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural (opp. artificial); genuine, pure, excellent (opp. adulterated, inferior))

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า

(2) กําเนิด เช่น มีชาติมีสกุล

(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์ เช่น ชาติเสือ ชาติขี้ข้า

(4) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่

(5) รส เช่น ไม่เป็นรสไม่เป็นชาติ

(6) ประเทศ

(7) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน

(8) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิมหรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ

ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “ชาติ” ก็คือ บ้านเมือง (country)

(๒) “ศาสนา

บาลีเป็น “สาสน” (สา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน

: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)

: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส

คำว่า “สาสน” (นปุงสกลิงค์) มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา

(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)

(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาสน-, ศาสนา : (คำนาม) ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลัก คือแสดงกําเนิดและความสิ้นสุดของโลกเป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทําตามความเห็นหรือตามคําสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ. (ส. ศาสน ว่า คําสอน, ข้อบังคับ; ป. สาสน).”

(๓) “พระมหากษัตริย์

คำหลักคือ “กษัตริย์” เป็นรูปคำที่เราเขียนอิงสันสกฤต “กฺษตฺริย” บาลีเป็น “ขตฺติย

ขตฺติย” อ่านว่า ขัด-ติ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ขตฺต + อิย ปัจจัย

ก) “ขตฺต” (ขัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ขฏฺฏ (ธาตุ = ป้องกัน) + ปัจจัย, แปลง ฏฺฏ เป็น ตฺต

: ขฏฺฏ + = ขฏฺฏ > ขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ป้องกันเขตแคว้น” หมายถึง การปกครอง, อำนาจ, สมบัติ (rule, power, possession)

ข) ขตฺต + อิย = ขตฺติย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นใหญ่ในการปกครอง” (2) “ผู้มีอำนาจ” (3) “ผู้มีสมบัติ

(2) เขตฺต + อิย ปัจจัย

ก) “เขตฺต” (เขด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

1) ขิปฺ (ธาตุ = หว่าน, กระจายออก) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ปฺ) เป็น เอ, ลบ ปฺ ที่สุดธาตุ, ซ้อน

: ขิปฺ > เขป + = เขปต > เขต + = เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หว่านพืช

2) ขิตฺต (เมล็ดพืชที่หว่านไป) + ตา (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ตฺต) เป็น เอ, ลบ ที่ (ขิตฺ)- (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบที่สุดบทหน้า”), ลบสระที่สุดธาตุ: ตา >

: ขิตฺต + ตา = ขิตฺตตา > ขิตฺตต + = ขิตฺตต > ขิตฺต > เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่รักษาพืชที่หว่านไว้

เขตฺต” หมายถึง :

(1) นา, ที่ดินแปลงหนึ่ง, ที่ดินอันเหมาะสมแก่การเพาะปลูก, ที่ตั้ง (a field, a plot of land, arable land, a site)

(2) ที่อันเป็นเนื้อนาบุญ, กองแห่งกุศลกรรม (the soil of merit, the deposit of good deeds)

ข) เขตฺต + อิย ปัจจัย, ลบ เอ ที่ เข-(ตฺต) (เขตฺต > ขตฺต)

: เขตฺต + อิย = เขตฺติย > ขตฺติย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเจ้าของนา” (2) “ผู้เป็นใหญ่ของพวกชาวนา

ขตฺติย” (ปุงลิงค์) หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน, หัวหน้าเผ่า (king, chieftain) เราเรียกทับศัพท์สันสกฤตว่า “กษัตริย์

คำนี้มีปฐมเหตุจากการตั้งชุมชนของมนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์ ที่ต้องอาศัยพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก เมื่อถูกมนุษย์พวกอื่นรบกวน ต้องมีคนที่คอยป้องกันเพื่อให้ชุมชนเพาะปลูกได้อย่างปลอดภัย

จึงเรียกคนที่ทำหน้าที่ป้องกันนี้ว่า “ขตฺติยกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่แห่งนา” ในความหมายดั้งเดิมคือ “ผู้ทำหน้าที่ปกป้องที่นาให้พ้นจากการรุกราน เพื่อให้คนอื่นๆ ทำนาได้อย่างสะดวกปลอดภัย”

ในการทำหน้าที่ปกป้องนี้ย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องต่อสู้กับศัตรู ดังนั้น “ขตฺติยกษัตริย์” จึงมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า “สายเลือดนักรบ

แผ่นดินไทยนี้ ตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์ยังดำรงความหมายเดิมของ “ขตฺติยกษัตริย์” ไว้อย่างครบถ้วน คือ “ผู้สละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน

(๔) “สถาบัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สถาบัน : (คำที่ใช้ในสังคมศาสตร์) สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคม จัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจําเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง สถาบันการเงิน. (ส.)”

คำว่า “(ส.)” ในวงเล็บ หมายถึง สันสกฤต คือ พจน.54 บอกว่า คำว่า “สถาบัน” มาจากภาษาสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺถาปน” ซึ่งรูปคำตรงกับ “สถาบัน” เป็นคำนาม แสดงความหมายเป็นภาษาไทยและอังกฤษ ว่า –

“การวาง, การกำหนดหรือตั้ง; การบัญชา, การจัด; บ้าน, ที่อาศรัย; การจัดบทละคอนหรือโรงละคอน; placing, fixing or erecting; ordering, directing; a dwelling, a habitation; arranging a drama, or stage management”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า “สถาบัน” คำอังกฤษคือ institute

โปรดสังเกตว่าใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำแปล “สฺถาปน” เป็นอังกฤษว่า institute

สฺถาปน” ตรงกับบาลีว่า “ฐาปน” (ถา-ปะ-นะ) รูปเดิมคือ “ฐาน

ฐาน” บาลีอ่านว่า ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

ฐาน > ฐาปน แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้ตั้งขึ้น” เป็นคำเดียวกับ “สถาปนา” หมายถึง การก่อตั้ง, การแต่งตั้ง, การทำให้เกิดมีขึ้น

เป็นอันว่า ฐาน > ฐาปน > สฺถาปน ในบาลีสันสกฤต มีความหมายอย่างกว้าง แต่เมื่อมาเป็น “สถาบัน” ในภาษาไทยก็มีความหมายแคบเข้า คือหมายถึง “สิ่งซึ่งสังคมจัดตั้งให้มีขึ้น” (ดูความหมายตาม พจน.ข้างต้น)

ที่เด่นมากก็นิยมใช้กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็น- สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์

…………..

อภิปราย :

คนไทยรุ่นใหม่มักตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมสังคมไทยจะต้องประกอบด้วยสามสถาบัน มีสถาบันชาติอย่างเดียวก็พอ ทำไมจะต้องมีสถาบันศาสนา ทำไมจะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อสงสัยนี้คงจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยอย่างน้อย 2 ข้อ คือ –

๑ การไม่ได้ศึกษารากเหง้าของตัวเองให้เข้าใจถูกต้องชัดเจน การไม่ศึกษาตัวเองให้เข้าใจนี้กำลังเป็นปัญหาสำคัญของคนไทย

๒ การนับถือเลื่อมใสชื่นชมความเป็นไปของต่างชาติ จนถึงขั้นคิดเอาว่า ชาติโน้นเขามีอย่างนั้น เขาเป็นอย่างนั้น ก็อยากให้ชาติของเรามีอย่างนั้นและเป็นอย่างนั้นบ้าง

ปัจจัยทั้งสองนี้มีส่วนหนุนกันและกันอยู่ในตัว กล่าวคือ –

เพราะไม่ศึกษาเรียนรู้ให้รู้จักตัวเอง จึงไม่รู้ว่าตัวมีอะไรดี จะพัฒนาข้อดีและแก้ไขข้อด้อยได้อย่างไร เป็นเหตุให้ไปมองหาของดีจากชาติอื่น

เพราะไปมองหาของดีจากชาติอื่น จึงดูถูกของดีของตัวเองที่ตนเองก็ไม่รู้จักแท้จริง เมื่อดูถูกตัวเองก็จึงไม่ต้องการจะศึกษาเรียนรู้ให้รู้จักตัวเองซ้ำเข้าไปอีก

…………..

: สถาบันไม่เคยทำลายใคร

: ถ้าไม่มีใครไปทำลายสถาบัน

5-12-59