บาลีวันละคำ

วัตถุมงคล (บาลีวันละคำ 900)

วัตถุมงคล

(บาลีไทย)

อ่านว่า วัด-ถุ-มง-คน

ประกอบด้วย วัตถุ + มงคล

วัตถุ” บาลีเขียน “วตฺถุ” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งอยู่” มีความหมายหลายอย่าง คือ

(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)

(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)

(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)

(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)

(5) เนื้อหา, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)

(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)

มงคล” บาลีเขียน “มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) แปลตามศัพท์ว่า () “เหตุให้ถึงความเจริญ” () “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์” () “เหตุที่ตัดบาป” หมายถึง เหตุที่นํามาซึ่งความเจริญ, สิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มงฺคล” ว่า –

(1) (เป็นคำนาม) good omen, auspices, festivity (ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง)

(2) (เป็นคุณศัพท์) auspicious, prosperous, lucky, festive (มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มหกรรมหรืองานฉลอง)

วตฺถุ + มงฺคล = วตฺถุมงคล > วัตถุมงคล เป็นคำที่ผสมขึ้นตามความหมายในภาษาไทย ไม่พบศัพท์ที่รวมกันเช่นนี้ในคัมภีร์

วัตถุมงคล” อาจแปลได้ 2 นัย คือ –

(1) แปลจากหน้าไปหลังว่า “วัตถุที่เป็นมงคล” ซึ่งน่าจะเป็นความหมายของผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมา

(2) แปลจากหลังมาหน้าว่า “มงคลที่เป็นวัตถุ” หมายความว่า สิ่งที่นับถือว่าเป็นมงคลนั้นเป็นวัตถุสิ่งของจับต้องได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับ “มงคลที่เป็นหลักธรรม” คือข้อปฏิบัติซึ่งเมื่อใครปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วก็จะมีความสุขความเจริญ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 กล่าวถึงคำว่า “วัตถุมงคล” ไว้ในคำนิยามคำว่า “มงคล” ว่า “…เรียกเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญเป็นต้นมาให้ หรือป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ว่า วัตถุมงคล” แต่ไม่ได้เก็บเป็นคำหลักหรือลูกคำ เพิ่งจะมาเก็บเป็นลูกคำของคำว่า วัตถุ” ในฉบับ พ.ศ.2554 โดยบอกไว้ว่า –

วัตถุมงคล : (คำนาม) เครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญเป็นต้นมาให้ หรือป้องกันภัยอันตรายต่างๆ เช่น ตะกรุด ผ้าประเจียด.”

ข้อสังเกต :

(1) คำว่า วัตถุมงคล แต่เดิมเรียกกันว่า “เครื่องราง” หรือ “เครื่องรางของขลัง” ซึ่งมักเป็นสิ่งของที่เกิดจากความเชื่อทางไสยศาสตร์ ต่อมาก็มีผู้สร้างพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “พระเครื่อง” ซึ่งย่อมาจากคําว่า “พระเครื่องราง” นั่นเอง

(2) ภายหลังมีผู้สร้างเหรียญรูปเกจิอาจารย์ต่างๆ ที่มีผู้นับถือขึ้นมาอีก นิยมนับถือในลักษณะเดียวกับเครื่องรางของขลัง ชะรอยจะรังเกียจว่าเครื่องรางเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ จึงเลี่ยงไปเรียกเสียใหม่ว่า “วัตถุมงคล”

(3) หลักการของวัตถุมงคลก็คือ ผู้สร้างอธิษฐานจิตขอให้สิ่งที่ตนสร้างขึ้นมีอานุภาพอย่างนั้นอย่างนี้ (ซึ่งไม่ควรเป็นในทางร้าย) อาจกำหนดเงื่อนไขกำกับไว้ด้วย เช่น ให้มีอานุภาพอยู่เป็นเวลาช้านานแค่ไหน มีอานุภาพสำหรับบุคคลเช่นไรเป็นต้น ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ย่อมขึ้นอยู่กับว่าผู้สร้างมีพลังจิตถึงขั้นที่จะยังความปรารถนาของตนให้สำเร็จได้จริงหรือเปล่าเป็นสำคัญ

: แขวนพระไว้ที่ใจ ปลอดภัยกว่าแขวนไว้ที่คอ

#บาลีวันละคำ (900)

4-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *