บาลีวันละคำ

คุณอนันต์โทษมหันต์ (บาลีวันละคำ 2,762)

คุณอนันต์โทษมหันต์

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี

อ่านว่า คุน-อะ-นัน / โทด-มะ-หัน

ประกอบด้วยคำว่า คุณ + อนันต์ และ โทษ + มหันต์

(๑) “คุณ

บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + ปัจจัย

: คุณฺ + = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” (2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” (3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม

คุณ” ในบาลีหมายถึง –

(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)

(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ  (quality, good quality, advantage, merit)

(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)

ตัวอย่างในข้อ (4) นี้ก็อย่างเช่นคำว่า “ทวีคูณ” ซึ่งแปลว่า “สองเท่า” (ทวี < ทฺวิ = สอง, คูณ = –เท่า) “-คูณ” คำนี้ก็แผลงมาจาก “คุณ” นี่เอง

คุณ” ในภาษาไทย ใช้ตามความหมายเดิมในบาลีก็มี ใช้ตามความหมายเฉพาะในภาษาไทยก็มี ในที่นี้ขอยกมาเฉพาะที่ใช้ตามความหมายเดิม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คุณ ๑, คุณ– : (คำนาม) ความดีที่มีประจำอยู่ในสิ่งนั้น ๆ เช่น คุณของแผ่นดิน, ความดีที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น ไม่รู้คุณข้าวแดงแกงร้อน; ความเกื้อกูล เช่น รู้คุณ. (ป., ส.).”

(๒) “อนันต์

บาลีเขียน “อนนฺต” อ่านว่า อะ-นัน-ตะ ประสมขึ้นจากคำว่า (ไม่, ไม่ใช่) + อนฺต

(ก) “อนฺต” (อัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (อมฺ > อนฺ)

: อมฺ + = อมฺต > อนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด

อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง :

(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)

(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)

(3) ข้าง (side)

(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)

(ข) + อนฺต แปลง เป็น อน ตามกฎการประสมของ + กล่าวคือ :

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง เป็น – เช่น

: + มนุสฺส = นมนุสฺส > อมนุสฺส > อมนุษย์

อมนุษย์” รากเดิมจึงไม่ใช่ + มนุษย์ อย่างที่ตาเห็นในภาษาไทย

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง เป็น อน

ในที่นี้ “อนฺต” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ – จึงต้องแปลง เป็น อน

: > อน + อนฺต = อนนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ไม่มีที่สุด” หมายถึง หาที่สุดมิได้, ไม่จบสิ้น, ไม่มีขอบเขต (endless, infinite, boundless)

ตามศัพท์ อนนฺต > อนันต์ ไม่ได้แปลว่า “มากล้น” แต่สิ่งใด “ไม่มีที่สุด” สิ่งนั้นย่อมส่อนัยว่า มากมาย มากเหลือล้นนั่นเอง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนันต-, อนันต์ : (คำวิเศษณ์) ไม่มีสิ้นสุด, มากล้น, เช่น อนันตคุณ คุณอนันต์. (ป.).”

คัมภีร์อัฎฐสาลินีกล่าวไว้ว่า สิ่งที่เป็น “อนันตะ” คือหาที่สุดมิได้ มี 4 อย่าง คือ –

(1) อากาศ (อากาโส  อนนฺโต)

(2) จักรวาล (จกฺกวาฬานิ  อนนฺตานิ)

(3) จำพวกสิ่งมีชีวิต (สตฺตนิกาโย  อนนฺโต)

(4) พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (พุทฺธญาณํ  อนนฺตํ)

บางท่านกล่าวว่า กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็เป็น “อนันตะ” หาที่สุดมิได้ด้วยเช่นกัน เช่น มีเท่านี้แล้วอยากได้เพิ่มเป็นเท่านั้น ครั้นพอมีเท่านั้นก็อยากได้เพิ่มเป็นเท่าโน้นต่อๆ ไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด

แต่กิเลสตัณหาก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถกำจัดให้สิ้นสุดลงได้

(๓) “โทษ

บาลีเป็น “โทส” (โท-สะ, – ส เสือ) รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย, เกลียดชัง) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ทุ-(สฺ) เป็น โอ (ทุสฺ > โทส)

: ทุสฺ + = ทุสณ > ทุส > โทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การประทุษร้าย” “การเกลียดชัง” “เครื่องประทุษร้ายกัน” “เหตุทำให้เกลียดชังกัน

โทส” ในบาลีมีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, สภาพไม่ดี, ความบกพร่อง; ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม (corruption, blemish, fault, bad condition, defect; depravity, corrupted state)

(2) โทสะ, ความโกรธ, ความประสงค์ร้าย, เจตนาร้าย, ความชั่วช้า, ความมุ่งร้าย, ความเกลียด (anger, ill-will, evil intention, wickedness, corruption, malice, hatred)

หรือจำสั้นๆ :

(1) ความชั่ว (corruption)

(2) ความโกรธ (anger)

โทส” ในบาลีเป็น “โทษ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โทษ : (คำนาม) โทษ, ความผิด, พิรุทธ; บาป; โทษ, การละเมิด; ธาตุพิการ, หรือที่พิการ, และลมในร่างเดิรไม่สะดวก; fault, defect, blemish; sin; offence; transgression; disorder of the humours of the body or defect in the functions of the bile, and circulation of the mind.”

ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “โทษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โทษ, โทษ– : (คำนาม) ความไม่ดี, ความชั่ว, เช่น โทษแห่งความเกียจคร้าน, ความผิด เช่น กล่าวโทษ, ผลแห่งความผิดที่ต้องรับ เช่น ถูกลงโทษ, ผลร้าย เช่น ยาเสพติดให้โทษ. (คำกริยา) อ้างเอาความผิดให้ เช่น อย่าโทษเด็กเลย. (ส.; ป. โทส).”

(๔) “มหันต์

บาลีเขียนเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

บาลี “มหนฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มหันต์” (มะ-หัน) หรือ “มหันต-” (มะ-หัน-ตะ-) กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

อภิปรายขยายความ :

คุณ + อนันต์ = คุณอนันต์ แปลว่า “มีคุณไม่สิ้นสุด” “มีคุณมาก” หมายถึง มีความดีมาก, อำนวยประโยชน์ให้มาก, มีประโยชน์มาก, ทำประโยชน์ได้มาก

โทษ + มหันต์ = โทษมหันต์ แปลว่า “มีโทษมาก” หมายถึง ก่อโทษได้มาก, ก่อความเสียหายได้มาก, ทำอันตรายหรือก่อผลร้ายได้มาก

คุณอนันต์” และ “โทษมหันต์” เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง

คุณอนันต์” และ “โทษมหันต์” นิยมพูดควบกันเป็นกลุ่มคำเดียวกัน เป็น “คุณอนันต์โทษมหันต์

คุณอนันต์โทษมหันต์” เป็นคำพูดในเชิงคติธรรม อาจสงเคราะห์ให้เป็น “สำนวน” ได้ชนิดหนึ่ง เป็นคำเตือนสติว่า สิ่งใดมีประโยชน์มาก สิ่งนั้นก็อาจมีโทษมากด้วย ในทางกลับกัน สิ่งใดมีโทษมาก สิ่งนั้นเราก็อาจหาวิธีเอามาใช้ประโยชน์ได้มากเช่นกัน เห็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่าลืมคิดถึงโทษของมัน และเห็นสิ่งที่มีโทษก็ให้ลองหัดคิดหรือมองหาประโยชน์ของมันไปด้วย

ข้อสังเกตในทางภาษาคือ คำนี้เราพูดว่า คุณอนันต์โทษมหันต์เราไม่พูดกลับกันเป็น “โทษมหันต์คุณอนันต์” คือเอา “คุณ” ขึ้นก่อน “โทษ

และเราก็ไม่พูดว่า “คุณมหันต์โทษอนันต์” คือ “อนันต์” ใช้กับ “คุณ” “มหันต์” ใช้กับ “โทษ

ในภาษากฎหมายมีคำว่า “มหันตโทษ” (มะ-หัน-ตะ-โทด) หมายถึงโทษหนัก (ถูกโทษสถานหนัก คือลงโทษเต็มที่ตามน้ำหนักแห่งความผิด) คู่กับ “ลหุโทษ” (ละ-หุ-โทด) หมายถึง โทษเบา, โทษไม่ร้ายแรง (ถูกลงโทษสถานเบา เนื่องจากไม่ได้ทำผิดมาก หรือมีเหตุอันควรปรานี หรือเป็นความผิดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นลหุโทษ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ลิ้นช่วยชีวิตคนได้

: แต่ลิ้นก็ตัดคอคนได้เช่นกัน

#บาลีวันละคำ (2,762)

4-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *