บาลีวันละคำ

อัมพรสถาน (บาลีวันละคำ 1,646)

อัมพรสถาน

อ่านว่า อำ-พอน-สะ-ถาน

ประกอบด้วย อัมพร + สถาน

(๑) “อมฺพร” (อำ-พะ-ระ) รากศัพท์มาจาก อมฺพฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อร ปัจจัย

: อมฺพ + อร = อมฺพร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเมฆ” หมายถึง ท้องฟ้า (2) “สิ่งอันผู้คนส่งเสียงทัก” (คือถามราคาหรือชมว่าสวยงาม) หมายถึง ผ้า, เครื่องนุ่งห่ม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อมฺพร” ว่า the sky (ท้องฟ้า); some sort of cloth and an (upper) garment made of it (ผ้าบางชนิด และผ้าสำหรับส่วนบนที่ทำจากผ้าชนิดนั้น)

อมฺพร” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อมฺพร : (คำนาม) ฟ้า; อากาศ; เครื่องแต่งตัว; น้ำอบ; ฝ้าย; the sky; atmosphere; apparel; clothes; a perfume; cotton.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัมพร : (คำนาม) ฟ้า, ท้องฟ้า, อากาศ; เครื่องนุ่งห่ม ในคำว่า ทิคัมพร = ผู้นุ่งลมห่มทิศ คือ ชีเปลือย, เศวตัมพร = ผู้นุ่งห่มผ้าขาว คือ ชีผ้าขาวหรือชีปะขาว. (ป., ส.).”

(๒) “สถาน

บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”

อัมพร + สถาน = อัมพรสถาน แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่แห่งฟ้า” หรือ “ถิ่นฟ้า

อัมพรสถาน” แปลแบบขยายความ (บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “มัชเฌโลป” หมายถึง “ลบคำกลาง”) ว่า ถิ่นแห่งชาวฟ้า หรือ ถิ่นที่มีความสุขปานดั่งแดนฟ้า

…………..

อัมพรสถาน” เป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งในบริเวณพระราชวังดุสิต สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ปัจจุบันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

…………..

: ถ้าใจสูงใจใสใจชื่นบาน

: ทุกสถานสุขล้ำเหมือนอัมพร

6-12-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย