ภิกขาจาร (บาลีวันละคำ 905)
ภิกขาจาร
อ่านว่า พิก-ขา-จาน
บาลีเขียน “ภิกฺขาจาร” อ่านว่า พิก-ขา-จา-ระ
ประกอบด้วย ภิกฺขา + จาร
“ภิกฺขา” รากศัพท์มาจาก –
(1) ภกฺขฺ (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, แปลง อ ที่ ภกฺ-เป็น อิ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ภกฺข > ภิกฺข + อ = ภิกฺข + อา = ภิกฺขา แปลว่า “สิ่งที่จำต้องกิน” (ถ้าไม่กิน ตาย)
(2) ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + อ ปัจจัย, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ภิกฺข + อ = ภิกฺข + อา = ภิกฺขา แปลว่า “สิ่งที่ควรขอ”
(3) ภิกฺขุ (ผู้ขอ) + อ ปัจจัย, ลบ อุ ที่ –ขุ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ภิกฺขุ > ภิกฺข + อ + = ภิกฺข + อา = ภิกฺขา แปลว่า “สิ่งสำหรับผู้ขอ”
“ภิกฺขา” หมายถึง อาหารที่บิณฑบาต, ทาน, บิณฑบาต; อาหาร, ภิกษา (begged food, alms, alms-begging; food)
“จาร” รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป, ประพฤติ) + ณ ปัจจัย
กฎไวยากรณ์ : ปัจจัยที่มี ณ (คำตามตำราว่า “ปัจจัยเนื่องด้วย ณ”) มีอำนาจยืดเสียงพยางค์แรกของธาตุหรือของศัพท์ที่อยู่ต้นคำ จากเสียงสั้นให้เป็นเสียงยาว คือ อ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู ในที่นี้ พยางค์แรกของธาตุ คือ “จ” เป็นเสียงสั้น จึงยืดเสียง (ศัพท์ทางไวยากรณ์ว่า “ทีฆะ”) อ เป็น อา
: จร + ณ (ลบ ณ) = จร > จาร แปลว่า การเคลื่อนไหว, การเดิน, การไป; การกระทำ, ความประพฤติ, การปฏิบัติ, กรรมวิธี (motion, walking, going; doing, behaviour, action, process)
ภิกฺขา + จาร = ภิกฺขาจาร แปลว่า “เที่ยวไปเพื่อภิกษา” หมายถึง การเที่ยวขออาหาร, การเที่ยวบิณฑบาต (going about for alms, begging round)
ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า ภิกขาจาร หรือ ภิกษาจาร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า “การเที่ยวขอ, การเที่ยวขออาหาร.”
ภิกขาจาร หรือ ภิกษาจาร แต่เดิมหมายถึงการเที่ยวขออาหารโดยเฉพาะ น่าจะเป็นพฤติการณ์ที่ทำกันทั่วไปในหมู่ผู้ที่ทำมาหากินไม่พอกิน คือเมื่อไม่พอกินหรือไม่มีกินก็ต้องขอผู้อื่น
เฉพาะนักบวชซึ่งตามเพศภาวะแล้วไม่ได้ประกอบอาชีพ จึงย่อมต้องดำรงชีพด้วยการขออาหาร “ภิกขาจาร” จึงเป็นคำใช้เรียกกิริยาที่นักบวชออกเที่ยวขออาหาร ถ้าใช้สำหรับภิกษุในพระพุทธศาสนาก็ตรงกับคำที่ว่า “ออกบิณฑบาต”
สำหรับคนทั่วไป คำว่า “ภิกขาจาร” นอกจากขออาหารแล้วยังหมายถึงการขอของอื่นๆ ด้วย รวมอยู่ในคำว่า “ขอทาน” นั่นเอง
: คิดจะให้ – เบา
: คิดจะเอา – หนัก
———————
(ตามคำปรารภของ Sira Nora)
#บาลีวันละคำ (905)
9-11-57