บาลีวันละคำ

บรมลาภ (บาลีวันละคำ 906)

บรมลาภ

อ่านว่า บอ-รม-มะ-ลาบ

ประกอบด้วย บรม + ลาภ

(๑) “บรม

บาลีเป็น “ปรม” (ปะ-ระ-มะ) แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ยังข้าศึกให้ตาย”

(2) “ขัดเกลาผู้อื่นให้หมดจด”

(3) “ยินดีในความยิ่งใหญ่”

(4) “ผูกผู้อื่นไว้ด้วยความดี”

(5) “ตักตวงคุณความดีไว้”

(6) “รักษาความสูงสุดของตนไว้ได้”

(7) “กำหนดรู้โลก”

(8) “ถึงนิพพาน”

ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ภาษาไทยใช้ว่า “บรม” (บอ-รม) พจน.54 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น ขี้เกียจบรม บรมขี้เกียจ”

ปรม” คงเป็น ปรม– เมื่อสมาสกับคำอื่นก็มี เช่น ปรมินทร์ ปรเมนทร์

(๒) “ลาภ

บาลีเขียนเหมือนกัน อ่านว่า ลา-พะ

ลาภ” รากศัพท์มาจาก ลภฺ (ธาตุ = ได้) + ปัจจัย, ทีฆะต้นธาตุ เป็น ลา

: ลภฺ > ลาภ + = ลาภ

คำว่า “ลาภ” แปลตามศัพท์ว่า การได้, ของที่ได้ เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า ลาภ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ลาภ” ว่า receiving, getting, acquisition, gain, possession (การรับ, การได้, การได้มา, กำไร, สิ่งที่ได้มา, สมบัติ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลาภ : (คำนาม) สิ่งที่มักจะได้มาโดยไม่คาดคิด. (ป., ส. ลาภ ว่า ของที่ได้, การได้, กําไร)”

ปรม + ลาภ = ปรมลาภ เป็นการเอาคำว่า ปรม กับ ลาภ มาปรุงประสมกันแบบไทย เขียนแบบไทยเป็น “บรมลาภ” ในคัมภีร์มีคำว่า ปรโม ลาโภ แปลว่า ลาภอย่างยอดยิ่ง ลาภอย่างยอดเยี่ยม

บรมลาภ” คำนี้ถอดความออกมาจากพุทธภาษิตในชุด “สี่บรม” กล่าวคือ –

อาโรคฺยปรมา  ลาภา ความไม่มีโรค เป็น บรมลาภ

สนฺตุฏฺฐีปรมํ  ธนํ ความสันโดษ เป็น บรมทรัพย์

วิสฺสาสปรมา  ญาตี ความคุ้นเคย เป็น บรมญาติ

นิพฺพานปรมํ  สุขํ พระนิพพาน เป็น บรมสุข

(สุขวรรค ธรรมบท)

เฉพาะคำว่า “อาโรคฺยปรมา  ลาภา” แปลตามสำนวนบาลี (word by word) ว่า “ลาภทั้งหลาย มีความไม่มีโรค เป็นอย่างยิ่ง

แปลให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง” = ความไม่มีโรคเป็น “บรมลาภ”

อาโรคฺยปรมา ลาภา เป็นคำบาลีที่คนไทยเอาไปพูดกันมากคำหนึ่ง

แต่ส่วนมากจะพูดผิด

คือพูดว่า อะโรคะยา  ปะระมา  ลาภา

คำที่ถูก ต้องพูดว่า “อาโรคยะปะระมา  ลาภา

อาโรคยะ-” ค ควาย เป็นตัวสะกด และออกเสียงครึ่งเสียง ออกเสียงว่า อา-โรก-เคียะ

ไม่ใช่ อา-โร-คะ-ยะ- หรือ อา-โรก-ยะ-

และไม่ใช่ อะ-โร-คะ-ยา-

อา- ไม่ใช่ อะ-

พุทธภาษิตผสม :

ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา

ความหิว เป็นบรมโรค

อาโรคฺยปรมา ลาภา

ความไม่มีโรค เป็นบรมลาภ

#บาลีวันละคำ (906)

10-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *