มนุษย์ (บาลีวันละคำ 907)
มนุษย์
อ่านว่า มะ-นุด
บาลีเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ
“มนุสฺส” รากศัพท์มาจาก –
(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง) = มนุสฺส แปลว่า “ผู้มีใจสูง”
(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย = มนุสฺส แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”
(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก) = มนุสฺส แปลว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู”
คำว่า “มนู” หรือนิยมเรียกว่า “พระมนู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”
“มนุสฺส” ในบาลีเป็น “มนุษฺย” ในสันสกฤต ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”
ความหมายของคำว่า “มนุสฺส – มนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง”
ความหมายอื่นๆ มักเป็นคำจำกัดความที่เกิดจากการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น มนุษย์หมายถึง “ผู้บกพร่อง” มนุษย์จึงต้องฝึกฝนอบรมตัวเองให้มีความสมบูรณ์ในด้านต่างๆ ถ้าไม่ฝึกฝนตนเองมนุษย์ก็จะบกพร่องอย่างยิ่ง (ตามตัวอักษร คำว่า “มนุษย์” ไม่ได้แปลว่า “บกพร่อง”)
ความรู้ : เครื่องวัดความมีใจสูงของมนุษย์
: รู้ว่าตัวเองมาจากไหน – ดี
: รู้ว่าควรจะไปไหน – ดีกว่า
: รู้วิธีไปให้ถึงเป้าหมาย – ดีมาก
: รู้แล้วลงมือทำจนไปถึงเป้าหมายได้จริง – ดีที่สุด
————–
(เนื่องมาจากความสงสัยของ เสือ พยัฆโคตร)
#บาลีวันละคำ (907)
11-11-57